พระรอดพิมพ์เล็ก กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน

0...ชมพระเครื่อง 1 ใน 5 เบญจภาคีที่ทุกคนใฝ่หา คือพระรอด กรุวัดมหาวันเป็นพระกรุเนื้อดินเผา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระนางจามเทวี และศิลปะของพระรอดเป็นศิลปะแบบหริภุญชัย อายุมาจนถึงปัจจุบันก็ พันกว่าปีมีทั้งหมด 5 พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้น องค์ที่นำมาให้ชมเป็นพิมพ์เล็กสีพิกุล เนื้อหาดูง่ายเพื่อเป็นแนวทางสะสมครับ 
 
0...ในการแยกพิมพ์ของพระรอดทั้ง 5 พิมพ์นั้น พระรอดพิมพ์ใหญ่ พระรอดพิมพ์กลาง และพระรอดพิมพ์เล็ก จะมีใบโพธิ์อยู่สองชั้น หมายถึงว่ามีใบโพธิ์ชั้นในอีกหนึ่งแถว ส่วนพระรอดพิมพ์ต้อและพิมพ์ตื้นจะมีใบโพธิ์แถวเดียว และพระรอดพิมพ์ใหญ่ พระรอดพิมพ์กลาง และพระรอดพิมพ์ตื้นจะมีเนื้อเกินที่ใต้ฐาน ส่วนพระรอดพิมพ์เล็กและพระรอดพิมพ์ต้อนั้น จะไม่มีเนื้อเกินที่ใต้ฐาน ที่ใต้ฐานจะเรียบ 
  
0...จุดพิจารณาของพระรอดพิมพ์เล็ก ใบหน้าจะบิดไปทางด้านขวาเล็กน้อย ใบหูทางด้านซ้ายหนาและกางออกมากกว่าทางด้านขวา ดวงตามีลักษณะใหญ่โปน จมูกใหญ่คล้ายลูกชมพู่ มีเส้นน้ำตกอยู่ใต้ข้อศอกซึ่งบางองค์อาจไม่ติดชัด  แขนซ้ายองค์พระจะมองเป็นสามส่วนตั้งแต่หัวไหล่ลงมา ส่วนกลางมักเห็นเป็นกล้าม และจะมีเส้นบางๆไล่ลงมาจากข้อมือซ้ายลงมาถึงเท้าขวาและจากแข้งขวาลงมาหาแข้งซ้าย นอกจากนี้จะเห็นเส้นนูนจากใต้คางแก้มฝั่งซ้ายทอดลงมาหาเส้นไหล่ และข้อมือขวาจะมีลักษณะคอดกิ่วอันเป็นผลจากการแกะพิมพ์ และองค์พระรอดมักจะมีเนื้อล้นตามขอบรอบองค์พระ 
 

 


0...ประการสำคัญที่สุดที่ของปลอมจะทำเลียนแบบได้ยากคือ การจำรูปแบบพิมพ์ทรง และความเก่าของเนื้อ  พระรอดมีอยู่ด้วยกัน 6 สีด้วยกันคือ สีเขียว สีพิกุล สีแดง สีเขียวคราบเหลือง,สีเขียวคราบแดง,สีเขียวหินครก สำหรับสีของพระรอด ทั้ง 6 สี นี้เป็นสีที่มีในพระรอดทั้ง 5 พิมพ์  
 


0…พระรอด เชื่อกันว่าเรียกตามนามพระฤาษีผู้สร้างคือ พระฤาษี “นารทะ” หรือพระฤาษี “นารอด” และพระรอดเรียกตามนามพุทธรูปศิลาองค์ที่ประดิษฐ์อยู่ในวิหารวัดมหาวันที่ชาวบ้านเรียกว่า “แม่พระรอด” หรือพระรอดหลวง ,มีการขุดพบครั้งแรกราวต้นรัชกาลที่ 5 จากการบันทึก ของท่านอธิการทา เจ้าอาวาสวัดพระคงฤาษีในขณะนั้น และอาจารย์บุญธรรม วัดพระธาตุหริภุญไชยว่าในปี พ.ศ. 2435 พระเจดีย์วัดมหาวันได้ชำรุดและพังทลายลงบางส่วน ทางวัดได้มีการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ ในครั้งนั้นได้พบพระรอดภายในกรุเจดีย์   พระรอดมีลักษณะของผนังใบโพธิ์คล้ายพระศิลาในพระวิหารวัดมหาวัน จึงเรียกตามนามพระรอดหลวง และได้นำพระรอดส่วนหนึ่งที่พบในครั้งนี้นำเข้าบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ตามเดิมอีกประมาณหนึ่งบาตร 

      
0…ปี พ.ศ. 2451 ฐานพระเจดีย์ใหญ่วัดมหาวันชำรุด ทางวัดได้รื้อออกและปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ได้พบพระรอดที่บรรจุไว้ในพ.ศ. 2435 และนำออกแจกจ่ายแก่ข้าราชการและผู้ร่วมงานในขณะนั้น ซึ่งกรุนี้ถือเป็นพระกรุเก่า และทางวัดมหาวันได้จัดสร้างพระรอดรุ่นใหม่บรรจุไว้แทน เข้าใจว่าคงเป็นรุ่นที่ครูบากองแก้วเป็นผู้สร้างไว้เพราะมีบางส่วนนำออกแจกให้ประชาชนในขณะนั้น เรียกว่า พระรอดครูบากองแก้ว 

 


      
0…ต่อมา ปี พ.ศ. 2498 ได้ขุดพบพระรอดด้านหน้าวัด และใต้ถุนกุฏิพระได้พบพระรอดจำนวนเกือบ 300 องค์ มีทุกพิมพ์ทรง กรุนี้ถือว่าเป็นกรุพระรอดกรุใหม่ และในปี พ.ศ. 2506 ทางวัดมหาวันได้รื้อพื้นพระอุโบสถ เพื่อปฏิสังขรณ์ใหม่ ได้พบพระรอดอีกครั้งมีจำนวนมากถึง 300 องค์เศษ พระรอดชุดนี้ส่วนใหญ่จะคมชัด และงดงามมากหลังจากนั้นต่อมาก็มีผู้ขุดหาพระรอดในบริเวณลานวัด จนกระทั่งทางวัดได้ระงับการขุดพระรอด 
 
จากกันด้วยข้อคิด “อุปสรรค เป็นได้ทั้งพลังขับเคลื่อน หรือ เป็นกำแพงขวางกั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของเราเอง” 
 
เขียน : นายกองตรีอ้วน [email protected]