ระเบิด(การเมือง)ป่วน !!

เหตุการณ์สร้างสถานการณ์ ด้วยการจุดระเบิดเวลาบริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังคงมีคำถามเกิดขึ้นมากว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนร้ายต้องกระทำในช่วงที่บ้านเมืองกำลังขับเคลื่อนไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหากตั้งสมมติฐานถึงสาเหตุอาจจะมองได้หลายประเด็น โดยเฉพาะกลุ่มที่เสียผลประโยชน์จากอำนาจรัฐบาล และ คสช. ที่เข้ามาบริหารประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

กลุ่มที่เสียผลประโยชน์ที่ว่านี้ อาจมองไปถึงการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่เข้าไปพัวพันมีส่วนได้ส่วนเสียในหลายโครงการ

แม้แต่การผ่าตัดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ตัดโควต้า 5 เสือกองสลาก ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล และ คสช. ที่เป็นกลุ่มฐานอำนาจเก่าก็ถูกขึ้นบัญชีที่จะต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างละเอียดอีกครั้ง

หรือแม้แต่การจัดฉากของรัฐบาล และ คสช. เพื่อให้คงอยู่ในการบริหารประเทศ ก็ถูกหยิบมาตีเป็นกระแสสังคมเช่นกัน 

และความชัดเจนที่ว่านี้กับเหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ  พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกมายืนยันว่า ไม่ได้เป็นการจัดฉากเพื่อหวังกลบข่าว 3 ปี รัฐบาล คสช.

การจัดซื้อเรือดำน้ำ หรือการขัดผลประโยชน์โควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลของ 5 เสือกองสลากฯ แต่คนร้ายพยายามหาจังหวะ เวลา และโอกาส ในการก่อเหตุสร้างสถานการณ์

พร้อมมั่นใจความเชื่อมกับเหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณหน้ากองสลากเดิม เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อสร้างสถานการณ์ก่อกวน ดีสเครดิตรัฐบาล และ คสช. 

แต่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเป็นกลุ่มไหน เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตอาจจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล และ คสช. โดยที่ไม่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ไฟใต้ และกลุ่มการเมืองเพราะต้องการเลือกตั้ง

ขณะที่พลโทอภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่ออกมายอมรับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ว่า ทั้งสองเหตุการณ์มีความเชื่อมโยงกัน และอย่าคาดเดาว่าเป็นเรื่องการขัดผลประโยชน์เกี่ยวกับกองสลาก แต่ก็ชี้ว่าการคาดเดาก็เหมือนกับเดาตัวเลขว่าหวยจะออกเลยอะไร

สำหรับการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มข้นในพื้นที่โดยรอบสนามหลวง ไม่ได้เป็นการวัวหายแล้วล้อมคอก พร้อมฝากให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาไม่ให้คนที่ไม่หวังดีกับบ้านเมืองสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย 

นับจากเหตุการณ์ระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ ​ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 20 คน เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล คสช. และยังมีเหตุการณ์ที่เกิดตามมาอีกครั้งนับครั้งไม่ถ้วน

ไม่ว่าระเบิดต่อเนื่อง 7 จังหวัดภาคใต้ ระเบิดที่ศาลอาญา ระเบิดที่พารากอน ระเบิดที่กองสลาก  และล่าสุดที่บริเวณหน้าโรงละครแห่งขาติ

ซึ่งเหตุการณ์ระเบิดในแต่ละครั้งจะมีอานุภาพความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป หรือแม้แต่เป้าหมายก็จะไปคนละทิศคนละทาง รวมถึงส่วนประกอบของระเบิดที่นำมาใช้ก็แตกต่างเช่นกัน 

ทั้งนี้ รูปแบบของการสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมืองแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะความรุนแรง คือ

1.การสร้างความปั่นป่วน โดยจะใช้ชนวนระเบิดที่เน้นเสียงดัง และหาซื้อได้ง่ายโดยมีส่วนผสมที่ไม่มีสะเก็ดระเบิดมาก เช่น ดินประสิว  ดินเทา ที่หาซื้อได้ตามร้านดอกไม้ไฟ จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุม รวมถึงชนิดระเบิดที่นำมาใช้ อาทิ ระเบิดปิงปอง ระเบิดลูกบอล ระเบิดประทัดยักษ์​ 

2.การสร้างสถานการณ์โดยใช้ส่วนประกอบของวัตถุชนิดแรงดันต่ำ  ที่มีการจุดชนวนด้วยระเบิดแสวงเครื่องธรรมดา หรือจะจำพวกลูกเกลี้ยง หรือ ระเบิดน้อยหน่า

และ 3.การสร้างสถานการณ์เพื่อหวังเกมการเมือง เพื่อหมายเอาชีวิต โดยชนิดของระเบิดจะใช้อุปกรณ์จำนวนมาก โดยจะใช้แผงวงจร  และตั้งเวลาด้วยโทรศัพท์มือถือ โดยใช้อุปกรณ์ถังแก๊ส หรือ ถังดับเพลิง ในการปฏิบัติการคาร์บอมเหมือนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

จะเหตุป่วน สร้างสถานการณ์ หมายจะเอาชีวิต หากตั้งสมมุติฐานว่าเกี่ยวกับการเมือง จะด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม ผลสุดท้ายในทางคดีใช่จะจับกุมผู้ก่อเหตุมาเปิดประเด็นให้ชัดได้

อะไรคือชนวนของการกระทำ จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อาจพอประเมินได้ว่าภาครัฐฯเองก็ไม่มีเจตานาที่จะเร่งรัดจับกุมเปิดโปง ดีแต่จะเป็นข่าวแล้วเงียบหายไป..ก็เท่านั้น


เขียน : ต้นไม้ politics