"พระพุทธนรสีห์"อัญเชิญมาให้ปชช.สักการะครั้งแรก ณ ลานพระราชวังสวนดุสิต


           
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 

โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานสงฆ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ 175 รูป ในวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 16.30 น. ณ พระลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า)
             
พร้อมกันนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ "พระพุทธนรสีห์” พระพุทธรูปยุคเชียงแสน ปางมารวิชัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่ง และไม่เคยอัญเชิญออกนอกสถานที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ถวายสักการะมาก่อน 

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่อัญเชิญมาเป็นพระประธานในพิธี โดยริ้วขบวนตามแบบโบราณราชประเพณีอันงดงาม
           
สำหรับพระพุทธนรสีห์องค์นี้เคยประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ระหว่างการก่อสร้างพระอุโบสถ เมื่อพระอุโบสถตลอดจนพระพุทธชินราชจำลองสร้างเสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธนรสีห์ขึ้นไปประดิษฐานยังพระที่นั่งอัมพรสถาน ตราบจนบัดนี้ถึงบัดนี้ ก็ไม่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญออกมาอีกเลย
 
ประวัติมีบันทึกไว้ใน"นิทานโบราณคดี"
พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

..ก็ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร ทรงพระราชดำริว่าพระพุทธรูปที่จะตั้งในวัดนั้น จะหาพระหล่อของโบราณแบบต่างๆ มาตั้ง ทำนองอย่างเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัด
พระเชตุพนฯ โปรดให้ฉันเป็นพนักงานเสาะหาพระพุทธรูปถวาย 

วันหนึ่งตรัสแก่ฉันว่าต้องพระราชประสงค์พระพุทธรูปตั้งเป็นพระประธานที่การเปรียญสักองค์หนึ่ง ให้เป็นพระขนาดย่อมกว่าพระพุทธรูปที่ตั้งพระระเบียง แต่จะต้องให้งามสมกับที่เป็นพระประธาน 

ฉันจะหาถวายได้หรือไม่ ฉันกราบทูลว่าเมื่อขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ได้พระพุทธรูปขนาดนั้นมาไว้ที่บ้านองค์หนึ่ง“ถ้าโปรดจะถวาย” (หมายความว่าถ้าไม่ถูกพระราชหฤทัยก็ไม่ถวาย) ไม่ตรัสตอบว่ากระไรในเวลานั้น 

ต่อมาอีกสักสองสามวันมีพระราชกิจจะเสด็จลงไปเมืองสมุทรปราการ เพื่อรับพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลอินเดียถวาย และโปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิจ ไปเชิญมาจากอินเดียจนถึงเมืองสมุทรปราการ เวลาทรงรถไปสถานีรถไฟที่หัวลำโพง เสด็จแวะที่บ้านฉัน ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรพระพุทธรูปที่ท้องพระโรง 

พอทอดพระเนตรเห็นก็โปรด ออกพระโอษฐ์ว่า “พระองค์นี้งามแปลกจริงๆ” ตรัสสั่งกรมวังในขณะนั้นว่า ให้จัดยานมาศกับขบวนแห่มีเครื่องสูงกลองชนะไปรับพระองค์นั้นเข้าไปยังพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงขนานพระนามถวายว่า “พระพุทธนรสีห์” ก็เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งแต่นั้นมา

เมื่อสร้างพระอุโบสถชั่วคราวที่วัดเบญจมบพิตรแล้ว โปรดให้เชิญพระพุทธนรสีห์แห่ขบวนใหญ่ไปตั้งเป็นพระประธานอยู่จนสร้างพระอุโบสถใหญ่แล้ว แต่พระประธานสำหรับพระอุโบสถใหญ่นั้น ให้เที่ยวตรวจพระโบราณตามหัวเมืองจนกระทั่งเมืองเชียงแสน ก็ไม่มีพระพุทธรูปงามถึงสมควรจะเชิญมา จึงโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกมาเป็นพระประธาน และโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธนรสีห์ ตั้งไว้เป็นพระประธานที่พระวิหารสมเด็จในวัดเบญจมบพิตรด้วยองค์หนึ่ง 

ส่วนองค์พระพุทธนรสีห์นั้นโปรดให้เชิญเข้าไปประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งอัมพรสถาน ยังสถิตอยู่ในพระราชมนเทียรนั้นจนบัดนี้

 มีคนชอบพูดกันว่า พระพุทธนรสีห์เป็นพระมีอภินิหารให้เกิดสวัสดิมงคล อ้างว่าตัวฉันผู้เชิญลงมา ไม่ช้าก็ได้เลื่อนยศจากกรมหมื่นขึ้นเป็นกรมหลวง พระพุฒาจารย์ (มา) เมื่อยังเป็นพระมงคลทิพมุนี ผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์ เป็นพระราชาคณะสามัญก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเทพ 

แม้พระภิกษุเปี่ยมช่างหล่อผู้แต่งพระพุทธนรสีห์ ต่อมาไม่ช้าก็ได้มีสมณศักดิ์เป็นที่พระครูมงคลวิจิตร เขาว่ากันดังนี้

พระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งนั้น จะว่ามีอภินิหารก็ได้ แต่เป็นไปอีกทางหนึ่งต่างหาก เมื่อฉันถวายพระพุทธนรสีห์ไปแล้ว พระพุฒาจารย์ท่านปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์เมืองทุ่งยั้งเสร็จก็ส่งมาให้ฉัน ให้ตั้งไว้ที่ท้องพระโรง บูชาแทนพระพุทธนรสีห์มาได้สักสองเดือน 

วันหนึ่งฉันไปหามารดาตามเคย ท่านถามว่าได้ยินว่าที่ไปได้พระมาจากเมืองเหนือองค์หนึ่ง มักทำให้เกิดทะเลาะวิวาทกันจริงหรือ ฉันไม่เคยเล่าเรื่องเดิมของพระองค์นั้นแก่ใคร 

ชะรอยจะมีคนในพวกที่ได้ขึ้นไปเมืองเหนือกับฉันในครั้งนั้นไปบอกให้ท่านทราบ แต่เมื่อท่านรู้แล้วฉันก็เล่าเรื่องให้ท่านฟังตามเขาบอกที่เมืองอุตรดิตถ์ ท่านพูดต่อไปว่า แต่ก่อนมาคนที่ในบ้านก็อยู่กันเป็นปรกติ ตั้งแต่ฉันเอาพระองค์นั้นมาไว้ที่บ้านดูเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันไม่หยุด 

ท่านส่งเศษกระดาษชิ้นหนึ่งซึ่งท่านได้ให้จดชื่อคนวิวาทมาให้ฉันดู มีทั้งผู้ดีและไพร่วิวาทกันถึง 6 คู่ ท่านตักเตือนแต่ว่าขอให้ฉันคิดดูให้ดี ฉันกลับมาคิดดูเห็นว่าถ้าขืนเอาพระองค์นั้นไว้ที่บ้านต่อไป ก็คงขัดใจมารดา จึงไปเล่าเรื่องให้พระพุฒาจารย์ฟัง แล้วถวายพระองค์นั้นให้ท่านรับเอาไปไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ แต่นั้นเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งก็เงียบไป

ต่อมาอีกหลายเดือน กรมการเมืองอุตรดิตถ์คนหนึ่ง ซึ่งได้เคยไปเมืองทุ่งยั้งด้วยกันกับฉัน ลงมากรุงเทพฯ ไปหาฉันที่บ้าน ฉันเล่าให้เขาฟังถึงเรื่องพระองค์นั้น แล้วนึกขึ้นว่าถ้าฝากให้เขาเชิญกลับขึ้นไปไว้ที่วัดพระมหาธาตุเมืองทุ่งยั้งอย่างเดิม จะดีกว่าเอาไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ จึงสั่งให้คนไปขอพระองค์นั้นคืน 

พระพุฒาจารย์ตกใจรีบมาหา บอกว่าสำคัญว่าฉันสิ้นอาลัยให้พระองค์นั้นเป็นสิทธิแก่ท่าน ตั้งแต่พระองค์นั้นไปอยู่ที่วัดจักรวรรดิฯ ท่านสังเกตเห็นมักมีเหตุวิวาทบาดทะเลาะเกิดขึ้นในวัดผิดปรกติ แม้จนเด็กลูกศิษย์ซึ่งเคยเป็นคนเรียบร้อยมาแต่ก่อน ก็ไปตีหัวเจ๊กขายเจี้ยมอี๋ ท่านรำคาญใจแต่มิรู้ที่จะทำอย่างไร 

เผอิญพ่อค้าชาวหัวเมืองคนหนึ่งซึ่งเคยรู้จักกับท่านมาแต่ก่อน เข้ามาค้าขายทางเรือถึงกรุงเทพฯ เขาแวะไปหาท่าน พอเห็นพระพุทธรูปองค์นั้นก็ชอบใจถึงออกปากขอ ท่านจึงให้พระองค์นั้นแก่พ่อค้าคนที่ขอไปเสียแล้ว เขาจะพาไปทางไหนก็ไม่รู้ ก็เป็นอันสิ้นกระแสความเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งเพียงเท่านั้น

ได้แต่หวังใจว่าเพราะพ่อค้าคนที่ได้พระไป ไม่รู้เรื่องเดิมพระองค์นั้น บางทีจะไม่ไปเป็นเหตุให้เกิดวิวาทบาดทะเลาะเหมือนหนหลัง