ไทยภายใต้เจตจำนง คสช.

กำลังจะเป็นครั้งแรกของประเทศที่จะมี"ยุทธศาสตร์ชาติ 20  ปี" ขึ้นมาเป็นกรอบในการเดินหน้าประเทศอย่างเป็นทางการ ที่ต้องบอกอย่างนี้ ก็เพราะทิศทางประเทศนั้น ถูกกำหนดเป็นกฎหมาย ซึ่งจะมีผลผูกพันกับทุกองค์กรและไม่ใช่เฉพาะแค่รัฐบาล-คสช.เท่านั้น

ทุกรัฐบาลที่เข้ามารับบทบาทบริหารประเทศ..ก็เช่นกัน แต่นอกจากเหตุผลความจำเป็น เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศแล้ว ยังหมายถึงอำนาจที่อยู่เหนือรัฐบาลเลือกตั้งไปด้วย

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติเห็นชอบและผ่านร่างกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และร่างกฎหมาย แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศเข้าสู่กระบวนการบังคับใช้เป็นกฎหมาย 

สอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีและประกาศใช้กฎหมายนี้ ภายใน 120 วัน และวางกรอบให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อดำเนินการภายใน 1 ปี 

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามร่างกฎหมาย จะมี 35 คน จะทำหน้าที่เสมือนซูเปอร์บอร์ดในการขับเคลื่อนจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเดินหน้าปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

โดยเมื่อกฎหมายมีผลบังคับ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนั้น "ซูเปอร์บอร์ดชุดแรก จะมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

และมีกรรมการโดยตำแหน่ง คือ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล, พลเอกสุรพงษ์ สุวรรณอัตถุ์,พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท,พลเรือเอกณะ อารีนิจ,พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง, และพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา 

ท่ามกลางข้อสังเกตว่า กองทัพกำลังเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางบริหารราชการแผ่นดินกับฝ่ายบริหาร โดยไม่ใช่แค่รัฐบาลทหารในยุค คสช. เท่านั้น แต่จะหมายถึงรัฐบาลเลือกตั้ง ในยุคเปลี่ยนผ่านประเทศ 5 ปี หรือแม้แต่รัฐบาลเลือกตั้งในอนาคตด้วย 

มีข้อสังเกตว่า เจตจำนงของ คสช. นอกจากจะถูกส่งผ่านรัฐธรรมนูญแล้ว ยังถูกกำหนดไว้ในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะผูกพันในทางปฏิบัติถึง 20 ปี แม้จะเปิดทางให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ แต่กลไกการปรับแก้ กลับมีเงื่อนไขรัดกุมยากต่อการปรับเปลี่ยน

ในขณะเดียวกันหากละเว้น-ไม่ปฏิบัติตาม ก็จะอยู่ในข่ายปฏิบัติมิชอบ มีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.และเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกดำเนินคดีอาญา

ขณะที่กรอบยุทธศาสตร์ชาติ จะสอดรับกับแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นไปตามร่างกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ปี 2560  โดยทิศทางที่เขียนไว้ คือภารกิจที่ต้องกำหนดขึ้นและขับเคลื่อนไปในแต่ละด้าน

อาทิ ด้านความมั่นคง การเมือง  ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการศึกษา ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสาธารณสุข  หรือด้านอื่นๆ ตามแต่กรรมการเห็นแก่สมควร   

ดังนั้น ในภาวะที่การเมืองการปกครองเข้าสู่ย่างก้าว 86 ปี 24 มิถุนายน ถ้าจะย้อนถามถึงพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผนวกกับร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติและร่างกฎหมายการปฏิรูปประเทศ

ภาพแรกที่เห็น คือเจตนารมณ์ของ คสช. ซึ่งไม่เพียงแค่ 5 ปีนับจากนี้ แต่น่าจะหมายถึง 10 และ 20 ปีในอนาคตด้วย




เขียน : ต้นไม้ politics

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ