พระพุทธชินราช อินโดจีน พ.ศ.2485 วัดสุทัศน์ฯ


0..วันนี้ชมพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน วัดสุทัศนฯ เป็นพิมพ์ต้อ(บัวเล็บช้าง) มี 2โค็ดตอกคมชัด ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายพิมพ์ที่มีการจัดสร้าง สภาพดูง่าย กระแสโลหะแบบนี้สามารถศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการส่องพระโลหะในยุคเดียวกันอย่างเช่น หลวงพ่อเงิน วัดบางคลานได้ครับ ส่วนค่านิยมอยู่ที่หลักหมื่นกลางครับ 
 
 
0...พระพุทธชินราชรุ่นอินโดจีนนี้จัดสร้างโดยคณะกรรมการพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย (ซึ่งเป็นการรวมตัวระหว่าง พุทธธรรมสมาคม กับ ยุวพุทธศาสนิกสมาคม) โดยมีพล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกสมาคมฯวัตถุประสงค์เพื่อแจกจ่ายให้แก่ทหารที่ไปราชการสงครามและให้ประชาชนเช่าบูชา โดยเหตุกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเรื่องสิทธิเหนือดินแดนของอินโดจีน ในราวปี พ.ศ.2483-2484  
 


0...ปี พ.ศ.2485 สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังขยายตัวมาในภูมิภาคเอเชียนี้จึงได้มีการจัดสร้างพระพุทธชินราชรุ่นอินโดจีนขึ้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้ทหาร ในตอนแรกมีกำหนดการให้ทำพิธีเททองหล่อพระพุทธชินราชที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก แต่มีเหตุต้องเปลี่ยนสถานที่การเททองให้มาทำพิธีที่วัดสุทัศน์ฯแทนเนื่องจากในขณะนั้นกำลังอยู่ในภาวะสงครามโลก และประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 จึงไม่สะดวกในการเดินทางและทำพิธีจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่มายังวัดสุทัศน์ฯ แทน 
 
0...กำหนดการแรก พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ปี พ.ศ.2485 จะประกอบพิธี เททองหล่อที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ในวันเสาร์ ขึ้น5 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 และคณะกรรมการพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยซึ่งมีพล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกพุทธสมาคมและคณะกรรมการมากราบทูล สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ฯ เพื่อขอประทานอนุญาตการประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2485  


 
0... สมเด็จพระสังฆราช (แพ ) เป็นองค์ประธานการประกอบพิธีพุทธาภิเษก และท่านเจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) เป็นแม่งานผู้ดำเนินการพร้อมทั้งได้ ทำพิธี เททองหล่อพระตามตำรับตำราการสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ของวัดสุทัศน์ฯอย่างถูกต้องครบถ้วน  พิธีพุทธาภิเษกที่จัดขึ้นยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์จนเป็นที่กล่าวขวัญเพราะพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นได้จารแผ่นยันต์มาร่วมพิธีหล่อ และเดินทางมาร่วมเมตตาอธิษฐานจิตกันอย่างมากมาย 
 


0...การสร้างพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ปี 2485 กำหนดไว้ให้สร้างเพียงแค่ 2 แบบ คือ พระบูชา และ พระเครื่อง โดยมีกรมศิลปากรเข้ามาช่วยดูแลการหล่อและออกแบบพิมพ์พระ พระบูชาที่จัดสร้างในคราวนี้ได้จำลองแบบจากองค์พระพุทธชินราช วัดใหญ่ เมืองพิษณุโลก โดยใช้กรรมวิธีการหล่อเป็นพระขัดเงา จากหลักฐานบันทึกการสร้าง ได้ระบุไว้ว่า 
 
0..."พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในครั้งนี้มีขนาดหน้าตักค่อนข้างใหญ่ ก่อนจะส่งไป ให้ทุกจังหวัด ทั่วเมืองไทยไว้สักการบูชา และถ้าประชาชนคนไหน ปรารถนา อยากได้ พระบูชาไว้เป็น ส่วนตัว ต้องแจ้งความจำนงเป็น ลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้ง ส่งเงินค่าจัดสร้างองค์ละ 150 บาท ไปให้คณะกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดิน ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้ช่างจัดสร้าง ตามจำนวนที่แจ้งความจำนงไว้เท่านั้น” 
 
0...ในส่วนของพระเครื่อง คณะผู้ดำเนินงานได้ใช้กรรมวิธี 2 แบบ คือ พระหล่อ กับ พระปั๊ม พระหล่อจัดสร้างประมาณ 90,000 องค์ เป็นพระเนื้อโลหะผสมโดยมีทองเหลืองเป็นหลัก แต่สุดท้ายคัดเหลือสภาพสมบูรณ์ 84,000 องค์ ซึ่งเท่ากับพระธรรมขันธ์ มีโค้ดใต้ฐานจะตอกเป็นรูปตรา ธรรมจักร และ อกเลา  ซึ่งเป็นรูปอกเลาที่ติดอยู่หน้าบานประตูพระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก 

0...พระพุทธชินราชแบบหล่อนี้ในช่วงแรกได้หล่อ อกเลานูน ติดไว้บริเวณใต้ฐานพระ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นก้นเรียบ แล้วใช้วิธีตอกโค้ดแทนจนครบ 84,000 องค์ ดังนั้นจึงมีพระในส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ตอกโค้ด ในส่วนของราคาเช่าบูชานำออกให้เช่าบูชาองค์ละ 1 บาท ถ้าองค์ไหนที่สวยสมบูรณ์ราคาจะอยู่ที่ 1.50 บาท ส่วนเหรียญปั๊มใบเสมา ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินราชมีซุ้มเรือนแก้ว ส่วนด้านหลัง เป็นรูปอกเลา สร้างเป็น เนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 3,000 เหรียญ ราคาค่าบูชาเหรียญละ 50 สตางค์  
 
0...นอกจากสมเด็จพระสังฆราช (แพ ) เป็นองค์ประธานการประกอบพิธีพุทธาภิเษก และท่านเจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) เป็นแม่งานแล้ว รายนามพระอาจารย์ที่ร่วมปลุกเศก พระพุทธชินราชในปี พ.ศ. 2485 เช่นหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา,หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก,หลวงปู่นาค วัดระฆัง,หลวงปู่จันทร์ วัดนางหนู,หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว,หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง,หลวงพ่อแช่ม วัดตากล้อง,หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว,หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด,หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ,หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง,หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ,หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา,หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก,พระพุทธโฆษาจารย์(เจริญ) วัดเทพศิรินทร์,หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่,หลวงพ่อติสโส(อ้วน) วัดบรมนิวาส,พระพุฒาจารย์(นวม) วัดอนงค์,หลวงพ่อเส็ง วัดกัลยา. 
 
0...หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้,หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ,หลวงพ่อกลิ่น วัดสะพานสูง,หลวงพ่ออิ่ม วัดชัยพฤกษ์มาลา,หลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก,หลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน,หลวงพ่อพิศ วัดฆะมัง,หลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก,หลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง,หลวงพ่อปลื้ม วัดปากคลองมะขามเฒ่า,หลวงพ่อพริ้ง วัดบางประกอก,หลวงปู่ใจ วัดเสด็จและหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ เมตตาจารแผ่นทองเหลือง และแผ่นทองแดงส่งร่วมพิธีหล่อ กล่าวได้ว่าพิธีหล่อพระรูปจำลองพระพุทธชินราช พ.ศ.2485 เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพิธีหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยทีเดียว 
  
จากกันด้วยข้อคิด  “ ห้วงชีวิตคนเราเสมือนตะเกียงที่จุดไฟ และต้องดับลงเมื่อน้ำมันหมด ” 
 

เขียน : นายกองตรีอ้วน [email protected]