คู่ความคดีรับจำนำข้าวส่งคำแถลงปิดคดี15สค.

"15 สิงหาคม" วันที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดให้คู่ความ ซึ่งหมายถึง จำเลย คือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และโจทก์ คืออัยการสูงสุด ยื่นคำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษร หลังจากนั้นองค์คณะผู้พิพากษา จะนำไปประกอบการพิจารณา คดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในโครงการรับจำนำข้าว และนัดฟังคำพิพากษาในคดี "25 สิงหาคม"

และตามวิธีพิจารณาความอาญาของศาลฯ การส่งคำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษร หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือจำเลย หรือโจทก์ ไม่ส่ง จะถือว่าสละสิทธิ์ และไม่มีอะไรติดใจให้ต้องชี้แจงเพิ่มเติมแต่คดีนี้ คู่ความต่างใช้สิทธิ์ โดยนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการ สำนำงานการสอบสวน อัยการสูงสุด คณะทำงานคดีจำนำข้าว ระบุว่า การจัดทำร่างแถลงปิดคดี มีเนื้อหาครบถ้วนทุกประเด็น ทั้งในส่วนที่จำเลยคัดค้าน และการชี้ให้เห็นข้อพิรุธของพยานจำเลย 

ไม่ต่างกับทีมทนายความ อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่กล่าวย้ำถึงคำแถลงปิดคดีที่จะครอบคลุมและหักล้างข้อกล่าวหาทุกประเด็น พร้อมยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจ ในการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว  มีข้อสังเกตว่า คำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษร น่าจะต่างกับคำแถลงปิดคดีด้วยวาจาบางส่วน โดยเฉพาะเนื้อหาที่คำแถลงปิดคดีด้วยวาจา ในช่วงท้ายที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ใช้ความเป็นผู้หญิง เรียกความสงสารขอ ความเป็นธรรม พร้อมๆ กับการพาดพิงถึง คสช. หรือพลเอกประยุทธ์. จันทร์โอชา "บิ๊กตู่" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในเชิงชี้นำคดี

และหลังคู่ความ ส่งคำแถลงปิดคดีแล้ว องค์คณะผู้พิพากษา จะต้องเริ่มกระบวนการพิจารณา และจัดทำคำสั่ง หรือคำพิพากษาในคดี โดยตามมาตรา 20 กำหนดไว้ว่า "ผู้พิพากษาทุกคน ต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือ" และต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม ก่อนลงมติ และให้ถือมติ..ตามเสียงข้างมาก เป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยองค์คณะผู้พิพากษา อาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้จัดทำมตินั้นและให้เปิดเผยคำสั่ง หรือคำพิพากษานั้น เป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการนิจฉัยของผู้พิพากษา ให้เปิดเผยตามวิธีการที่ศาลฯ..กำหนด 

พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

ม.20  :  ผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือ 

            พร้อมต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม 

            ก่อนลงมติ และให้ถือมติตามเสียงข้างมาก

            คำสั่ง วินิจฉัยชี้ขาด คำพิพากาษา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ขณะที่ตามมาตรา 32 กำหนดให้อ่านคำพิพากษาในศาลโดยเปิดเผยภายใน 7 วันนับแต่วันเสร็จการพิจารณา และถ้ามีเหตุสมควรเลื่อน จะเลื่อนได้ไม่เกิน 14 วัน เว้นแต่ไม่อาจนำตัวจำเลยมาศาลฯ..ในวันอ่านคำพิพากษาได้ ให้เลื่อนพร้อมกับออกหมายจับ และเมื่อครบ 1 เดือน ยังจับไม่ได้-ให้อ่านลับหลังจำเลย โดยถือว่า จำเลยได้ฟังคำพิพากษานั้นแล้ว

พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

ม.32 :  ไต่สวนเสร็จ แถลงปิดคดี อ่านคำพิพากษาในศาล

            เลื่อนเมื่อมีเหตุสมควร ไม่เกิน 14 วัน 

            จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษา เลื่อนพร้อมหมายจับ

            จับตัวไม่ได้ 1 เดือน อ่านลับหลังจำเลย

ถ้าเทียบเป็นแนวปฏิบัติจะเท่ากับว่า นับจากวันที่ผู้พิพากษาได้คำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษรของคู่ความแล้วผู้พิพากษาจะมีเวลา 10 วันในการพิจารณาและเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน จากนั้นผู้พิพากษาทุกคนจะได้ประชุมร่วมกันในช่วงเช้าวันที่ 25 สิงหาคม โดยเริ่มต้นที่การแถลงคำวินิจฉัยส่วนตน ต่อที่ประชุม และลงมติ ก่อนจัดทำเป็นคำวินิจฉัยกลาง และนำไปอ่านเป็นคำพิพากษาในคดี ตามกำหนดนัดคู่ความฟังคำพิพากษา 9 นาฬิกา 

"จำเลยและโจทก์" ต่างฝ่ายต่างก็มั่นใจในข้อมูลและพยานหลักฐาน แต่การวินิจฉัยคดีอยู่ที่องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน และคดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ จะมีข้อวินิจฉัยที่เชื่อมโยง-ผูกพันกับคดีทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์และพวก มากน้อยแค่ไหน หรือทั้งหมดของข้อเท็จจริง อยู่ที่คำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้