ฟื้นคลังยา ต้นกล้าหมาน้อย

 จากสิ่งที่เห็นชินตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่เคยคิดว่าจะสำคัญอะไร อย่างไร จนเมื่อได้มีโอกาสเรียนรู้และลงมือทำ จึงเกิดความรู้สึกลึกซึ้งกับภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ...

และนี่คือปรากฏการณ์การเรียนรู้ของใหม่-สิวนาท คะรุรัมย์ กุ๊กไก่-ปนัดดา ศรีบุญเรือง อิ๋ว-อรัญญา แซมรัมย์ แหม่ม-รวีวรรณ สว่างภพ  เล็ก-ลลิตา จันทะสี  ชีวัน-สุขชีวรรณ ใจเพ็ง และ ขวัญ-ขวัญฤดี ประสพสุข ที่ได้มีโอกาส “ลงมือ”ทำโครงการต้นกล้าเยาวชนคนหมาน้อย ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีเพ็ญทิวา สารบุตร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)โคกเพชร อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ในฐานะพี่เลี้ยงชุมชนเป็นผู้ชักชวน

“แต่ก่อนเห็นพ่อแม่ตายายทำ แต่ไม่สนใจ ตอนนั้นนั่งดูเฉยๆ ก็ถามเขาว่า ทำอะไร เขาบอกว่า ทำหมาน้อย หนูก็ไม่รู้จัก” เล็กเล่าถึงอดีตที่เธอไม่เคยสนใจ

หมาน้อย[1] (ต้นกรุงเขมา)เป็นชื่อของสมุนไพรพื้นบ้านที่มีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณขับสารพิษ ทำให้ขับถ่ายสะดวก นอนหลับสบาย และใช้ทำอาหารคาว-หวานได้ ในอดีตสามารถพบเห็นได้ทั่วไปบริเวณชายทุ่งและในป่า  คนในพื้นที่ชุมชนบ้านเสลา-สุขเกษม ตำบลโคกเพชร อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ นิยมปลูกและบริโภคเป็นทั้งอาหารคาว หวาน และใช้เป็นสมุนไพร

 

ชุมชนบ้านเสลาตั้งอยู่ที่ ม.6 ต.โคกเพชร อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ  คนในชุมชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาเขมรในการสื่อสาร  มีองค์ความรู้พื้นถิ่นในการใช้ประโยชน์จากเครือหมาน้อย ซึ่งเป็นพืชที่เดิมจะพบเห็นในป่า แต่เมื่อพื้นที่ป่าลดลง ปริมาณของหมาน้อยจึงลดลงตามไปด้วย  ชาวบ้านจึงเริ่มนำหมาน้อยมาปลูกในครัวเรือน ด้วยเกรงว่าหากสูญหายไปชุมชนก็จะขาดแหล่งอาหาร และยาสมุนไพรพื้นบ้าน

เพราะ “รู้สึกอยากทำ” อิ๋วจึงเป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนเพื่อนๆ น้องๆ ในชุมชนให้มารวมกลุ่มกัน โดยเห็นว่า คนวัยเดียวกันมีเวลาว่างเยอะ หลายคนก็ไม่รู้จะทำอะไรถ้าต่างคนต่างอยู่ส่วนใหญ่ก็มักจะหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์                                                                                                                                                        

เมื่อพี่ๆ ให้คิดประเด็นที่จะทำโครงการจึงได้ทบทวนทุนเดิมของชุมชนพบว่า หมาน้อยซึ่งเป็นพืชสมุนไพรในหมู่บ้านเริ่มจะสูญหายไปแล้ว แม้ชาวบ้านจะมีความต้องการใช้แต่ก็เริ่มหาได้ยากแล้ว ทั้งกลุ่มจึงเห็นร่วมกันว่า ทำเรื่องนี้แหล่ะ เพราะจะได้เรียนรู้ถึงคุณค่า และฟื้นฟูภูมิปัญญาสมุนไพรหมาน้อย

            

 เมื่อความคิดตกตะกอน แผนการทำงานก็เริ่มขึ้น เบื้องต้นทีมได้จัดประชุมชี้แจงข้อมูลการทำโครงการให้ผู้นำหมู่บ้านและคนในชุมชนรับรู้ หลังจากนั้นก็เริ่มเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหมาน้อยทั้งในแง่คุณค่าและการใช้ประโยชน์จากผู้รู้ในชุมชน ฝึกการแปรรูป เพื่อให้ได้รู้จริงและลงมือทำ ทั้งนี้ตั้งใจว่า เมื่อรวบรวมความรู้เรื่องหมาน้อยแล้วจะนำไปบอกเล่าแก่คนในชุมชน พร้อมกับเพาะพันธุ์หมาน้อยเพื่อแจกจ่ายให้สมาชิกแต่ละครัวเรือนนำไปปลูก โดยเลือกบ้านเสลา-สุขเกษมเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ

กระบวนการสืบค้นข้อมูลเริ่มจากการสำรวจบ้านที่ยังปลูกหมาน้อยว่ามีอยู่กี่หลังคาเรือน พร้อมทั้งสอบถามถึงวิธีการปลูกและการใช้ประโยชน์จากผู้รู้ในชุมชนที่มีอยู่ 3 – 4 คน เช่น ยายสุรัตน์ ใจมน ยายจันทา เถาประ ผู้ใหญ่ทิน พันธุเป็น ทำให้พวกเขาได้รู้ว่า ปัจจุบันมีเพียงเฉพาะบ้านผู้รู้ที่ปลูกและแปรรูปหมาน้อยเพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งๆ ที่หมาน้อยมีสรรพคุณแก้อาการร้อนในและท้องร่วง แต่คนรุ่นใหม่เริ่มไม่ทราบกันแล้ว สิ่งที่ค้นพบทำให้พวกเขารู้สึกว่าของที่เคยกินแต่เล็กแต่น้อยเริ่มมีความหมายมากขึ้น

           

เมื่อรู้สรรพคุณ จึงนำมาสู่การเรียนรู้วิธีการแปรรูปหมาน้อยเป็นอาหาร ที่สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารทั้งคาวและหวาน เช่น ลาบหมาน้อย วุ้นหมาน้อยลอยแก้ว แช่เย็นผสมน้ำเชื่อมกินแล้วชุ่มคอ โดยน้องๆเยาวชนได้สาธิตการทำแจกจ่ายแก่พี่ๆ ทีมงานที่มาเยี่ยมในชุมชน ส่วนหนึ่งแบ่งขายในหมู่บ้าน ได้เงินมาไม่มากไม่มาย แต่กลุ่มบอกว่าเป็นเงินขวัญถุงที่จะสะสมไว้เป็นทุนทำกิจกรรมในอนาคต

           

แม้มูลค่าที่เป็นดอกผลของการลงมือทำแม้ไม่มาก แต่คุณค่าของการเรียนรู้นั้นมหาศาลเพราะมันแปรเปลี่ยนความรู้สึกสำนึกรักท้องถิ่นที่สะท้อนผ่านคำพูดของอิ๋วซึ่งบอกว่า “ครั้งแรกเราไม่รู้เรื่องเลย คิดว่าก็แค่ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย แต่พอมาทำโครงการนี้ถึงเข้าใจว่า ทำไมเราต้องมาสนใจ ที่เราต้องสนใจเพราะมันเป็นภูมิปัญญาของบ้านเรา ถ้าเราจะปล่อยให้มันหายไปเฉยๆ ก็ดูกระไรอยู่ มันเป็นประโยชน์ ก็น่าจะเก็บไว้ น่าเรียนรู้ไว้ ถ้าสมมุติว่า ปู่ย่าตายายไม่อยู่แล้วใครจะสอนเรา แล้วเด็กๆ ที่เขาเกิดมาทีหลัง  เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าที่บ้านเราเคยมีต้นแบบนี้ แล้วเอาไว้ทำอะไร ถ้าเราไม่เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ เด็กๆรุ่นหลังจะไม่มีความรู้ในการสืบทอดของดีในชุมชน”

 

นอกจากความตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว การได้ทำงานร่วมกันยังทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากคนข้างบ้านที่เห็นหน้าเห็นตารู้จักชื่อ ก็ได้รู้จักลึกซึ้งไปถึงนิสัยใจคอ ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างกัน ความรู้สึกนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสมาชิกที่เป็นสังคมก้มหน้าให้ลุกขึ้นมาปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

           

การทำโครงการที่ต้องรับผิดชอบตั้งแต่ต้นจนจบภายในระยะเวลา 6 เดือน ดูเหมือนจะไม่นาน แต่สำหรับเด็กสาววัยรุ่นซึ่งมีสิ่งเร้าใจรอบๆ ตัวมากมายถือว่าเป็นเวลาที่นานมาก การที่ได้วางแผนทำงาน การแบ่งบทบาทหน้าที่ และสัมผัสประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำด้วยตนเองกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ความกล้าแสดงออกที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอิ๋วเล่าว่า อยู่ที่โรงเรียนเขาก็สอนให้กล้าแสดงออกกล้าพูด แต่พอทำโครงการและต้องออกไปนำเสนอบ่อยๆ กลายเป็นการฝึกฝน การได้เห็นเพื่อนคนอื่นๆ พูดก็จดจำทักษะการพูดของเพื่อนเป็นประสบการณ์ทำให้เกิดความกล้ามากขึ้น

 

แม้ว่าการทำงานจะเน้นไปที่โครงการของเยาวชนที่ได้เรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้านหมาน้อย แต่ที่ได้ยังย้อนมาช่วยผลิตคนรุ่นใหม่ของชุมชนให้มีภูมิคุ้มกันจากสิ่งเร้ารอบตัว ซึ่งในอนาคตเยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนการส่งต่อแหล่งข้อมูลและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป