สุวิทย์ ระดมพลังประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาและการลงทุนภาคกลาง



       ในการผนึกพลังร่วมขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ระดมพลังประชารัฐ จัดประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาและการลงทุนภาคกลาง 16 จังหวัด ตรวจเยี่ยมกองทุนหมู่บ้านย่านยาวและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน 2560 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี ผู้ว่าราชการ 16 จังหวัด, สนง.คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สนง.คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สนง.คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สนง.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ, หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย,  เครือข่าย BIZ CLUB, ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC และบริษัท ประชารัฐสามัคคี ร่วมประชุม เพื่อขับเคลื่อนภาคกลางพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ผุดแนวคิดสร้างฐานข้อมูลน้ำภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี, พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ, เกษตรปลอดภัยด้วย Bio-Tech และโครงข่ายถนนระบายการจราจรจากภาคเหนือ

 

          นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พื้นที่ภาคกลางมี 40.5 ล้านไร่ คิดเป็น 21.6% ของประเทศ ประกอบด้วย 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม นนทบุรี สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และ อ่างทอง ในฐานะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ มีประชากร 10.6 ล้านคน ศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาภาคกลาง เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรของประเทศ เป็นฐานอุตสาหกรรมส่งออกและแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย และมีแรงงานนอกภาคเกษตรมีระดับการศึกษาและประสิทธิภาพแรงงานสูงกว่าภาคอื่นๆ อีกทั้งกรุงเทพฯเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลก เป็นศูนย์กลางคมนาคมและเศรษฐกิจ ธุรกิจและการศึกษาที่สําคัญของประเทศ มีความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์ และบุคลากรการวิจัย เป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลที่ดีที่สุดและมากที่สุดของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 28.10 ของประเทศ

 

ทิศทางการพัฒนาภาคกลาง

          ภาคกลางมี 16 จังหวัด (ไม่นับรวม กทม.) มีความโดดเด่นด้านคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงทั้งในภาคและกับภาคอื่นๆ โดยในปีพ.ศ.2558 มี GDP รวม 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.6% ของ GDP ประเทศ (ถ้านับรวม กทม. จะคิดเป็น 51.1% ของ GDP ประเทศ), ภาคกลางมีรายได้ต่อหัวที่ 278,782 บาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (203,350 บาท) โดยเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ปริมณฑลและจังหวัดอุตสาหกรรม เช่น อยุธยา สมุทรสาคร และปทุมธานี, เป้าหมายของการพัฒนาภาคกลาง คือ “พัฒนาสู่การเป็นมหานครที่ทันสมัยและเป็นฐานการเชื่อมโยงประเทศไทยสู่เส้นทางขนส่งสองฝั่งทะเล” โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ เช่น พัฒนากรุงเทพฯ เป็นมหานครทันสมัยระดับโลก, พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ, ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรม, บริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน, เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงทวายและ EEC และพัฒนาเชื่อมโยงกับทุกภาคเพื่อลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ

 

สถานการณ์การลงทุนในภาคกลาง

          ตั้งแต่ปีพ.ศ.2557 – ก.ค.2560 มีการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในภาคกลางทั้งสิ้น 1,246 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 421,169 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16 ของมูลค่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด, ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการลงทุน ส่วนใหญ่คือกิจการบริการและสาธารณูปโภค ซึ่งมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท (33% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด) รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร (1.1 แสนล้านบาท) และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 0.81 แสนล้านบาท ตามลำดับ และการลงทุนใน จ.สุพรรณบุรี มีกิจการที่ได้รับการอนุมัติ 24 โครงการ มีมูลค่า 10,091 ล้านบาท เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและขยะ กิจการเกษตรแปรรูป และกิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ และชิ้นส่วน

 

การวิจัยและนวัตกรรมในภาคกลาง

          ในปีพ.ศ.2559 ภาคกลางมีผลงานวิจัย 1,468 เรื่อง มีนักวิจัย 3,239 คน โดยเป็นการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อาทิ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนและวัฒนธรรม การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริม SMEs และการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของพื้นที่ชายแดน

3.2 ตัวอย่างงานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริงในพื้นที่ เช่น แอปพลิเคชั่น WaterSmart สำหรับแสดงปริมาณน้ำต้นทุนคาดการณ์ และ iFarmer แสดงการคำนวณปริมาณการใช้น้ำและพื้นที่เหมาะสมเกษตรกรรม ซึ่งเป็นผลงานของ ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นการจัดทำแผนที่เกษตร (Agri-Map) ที่เหมาะสมเพื่อใช้ประโยชน์ในทางเกษตรกรรมได้จริง

 

ภาพรวมการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในภาคกลาง

          กองทุนหมู่บ้านฯ ภาคกลาง มีจำนวน 18,017 กองทุน มีสมาชิก 3.1 ล้านคน และคณะกรรมการ 2.1 แสนคน โดยมีเงินทุนหมุนเวียนซึ่งได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล 36,425 ล้านบาท, ผลการประเมินของกองทุนหมู่บ้านภาคกลาง มีกองทุนระดับดีเด่น (A) 31.4% ระดับดีมาก (B) 39.9% ระดับดี (C) 18.0% และระดับที่ต้องปรับปรุง (D) 10.7%, โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ (วงเงิน 35,000 ล้านบาท) มีการอนุมัติโครงการและงบประมาณในภาคกลางแล้ว 12,620 กองทุน 14,307 โครงการ วงเงิน 6.3 พันล้านบาท โดยส่วนมากจะใช้เป็นร้านค้าชุมชน (3,113 โครงการ งบประมาณ 1.5 พันล้านบาท) รองลงมา ได้แก่ น้ำดื่มชุมชน ปุ๋ม/ยา/เมล็ดพันธุ์ บริการประปาชุมชน และบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร, ในขณะที่โครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ (วงเงิน 15,000 ล้านบาท) กองทุนในภาคกลางที่ได้รับอนุมัติโครงการและงบประมาณแล้ว 6,695 กองทุน 7,059 โครงการ วงเงิน 1.3 พันล้านบาท จำแนกเป็นโครงการร้านค้าชุมชน น้ำดื่มชุมชน ปุ๋ย/ยา/เมล็ดพันธุ์ บริการงานชุมชน และบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตามลำดับ, เป้าหมายการดำเนินการกองทุนหมู่บ้านฯ ในระยะต่อไป จะติดอาวุธทางปัญญาให้กับสมาชิกองทุนหมู่บ้านทั้งหมด โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคี อาทิ สนง.อัยการสูงสุด กองทุนการออมแห่งชาติ และหน่วยงานราชการ/เอกชน โดยมีโครงการ อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การส่งเสริมการออมในหมู่บ้าน การจัดสวัสดิการชุมชน การบ่มเพาะโฆษกหมู่บ้าน และการสร้างหมู่บ้านเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนว SDGs และเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านภาคกลาง เสนอขอรับการสนับสนุน 5 โครงการตามความต้องการของเครือข่ายฯ ได้แก่ (1) ศูนย์กระจายสินค้าเกษตรภาคกลาง (2) แหล่งท่องเที่ยวชุมชน (3) ธนาคารข้าว (4) โรงงานพลังงานไฟฟ้าทดแทนจากขยะ และ (5) โรงงานปุ๋ยอินทรีย์และเคมีเพื่อ supply เกษตรภาคกลาง

 

ข้อเสนอของภาคเอกชน

          ภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ และสมาคมธนาคารไทย (สำนักงาน กกร.) เสนอประเด็นเพื่อให้ภาครัฐพิจารณาสนับสนุน อาทิ การสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำ โดยเสนอให้สร้างฐานข้อมูลน้ำภาคอุตสาหกรรม เพื่อการบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีบินสำรวจทางธรณีฟิสิกส์และไลดาร์ (ดูทิศทางการไหลของน้ำ-แหล่งน้ำใต้ดิน-แหล่งน้ำผิวดิน) และเพิ่มพื้นที่สำรองน้ำหลากในพื้นที่ภาคกลางให้เป็น 3 พันล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสนับสนุนให้มีคลองขวาง, การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเสนอให้เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ในภาคการผลิต พัฒนาสังคมผู้ประกอบการแบบบูรณาการ และเร่งรัดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดกาญจนบุรี, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเสนอให้พัฒนาอาชีวะศึกษาเพื่อเตรียมแรงงานที่มีทักษะรองรับ Thailand 4.0, การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ในภาคกลาง โดยเสนอให้ (1) ส่งเสริมโรงงานเชิงนิเวศ Eco Factory/Green Industry (2) สนับสนุนท้องถิ่นบำบัดน้ำเสียชุมชน/ขยะชุมชน (3) ปรับปรุงภูมิทัศน์ (4) เพิ่มเติมระบบ Logistics และ (5) สร้างความเชื่อมโยงธุรกิจกับชุมชน /ประชารัฐ, การส่งเสริมเกษตรปลอดภัย โดยเสนอให้ (1) ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพและสารกำจัดศัตรูพืช Bio-Tech (2) ส่งเสริมเกษตรกรที่ดอน/น้ำน้อยปลูกพืชสมุนไพร วัตถุดิบสำหรับปุ๋ยชีวภาพ และสารกำจัดศัตรูพืช Bio-Tech และ (3) ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพและสารกำจัดศัตรูพืช Bio-Tech เพื่อลดต้นทุนการผลิต และการสร้างโครงข่ายถนนเพิ่มเติมเพื่อลดความแออัดทางการจราจรจากภาคเหนือ โดยเสนอขอให้สร้างเส้นทางคู่ขนานกับทางหลวงหมายเลข 32 ซึ่งมีปริมาณการจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ซึ่งอาจพิจารณาสร้างความเชื่อมโยงกับเส้นทางหลวงหมายเลข 311 และ 3196 เพื่อลดเวลาในการเดินทางสัญจร

 

เยี่ยมธนาคารข้าวสาร กองทุนหมู่บ้านย่านยาว 

          นอกจากนี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมกองทุนหมู่บ้านย่านยาว หมู่ที่ 3 ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ก่อตั้งมา 17 ปี มีนางบุญลือ พินิจผล เป็นประธานคณะกรรมการ ปัจจุบันมีสมาชิก 431 คน และมีเงินหมุนเวียน 17.99 ล้านบาท ปัจจุบันได้ยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนฯ โดยให้บริการฝากออมเงิน เงินทุนสินเชื่อ จากโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (ครั้งที่ 1) ทางกองทุนได้ดำเนินโครงการธนาคารข้าวสารเพื่อชุมชน ซึ่งสร้างรายได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการตู้น้ำแร่หยอดเหรียญ และร้านค้าชุมชนประชารัฐ จากงบประมาณ 200,000 บาท ในโครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (ครั้งที่ 2) ซึ่งทำให้ผู้เป็นสมาชิกและประชาชนสามารถซื้อหาสินค้าคุณภาพจากร้านค้าประชารัฐและซื้อข้าวสารในราคาถูกจากธนาคารข้าวสารเพื่อชุมชน ลดภาระค่าครองชีพ ประหยัดเวลาและการเดินทาง 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ