ผู้ตรวจราชการ ก.เกษตร เยี่ยมชม “สามพรานโมเดล”

ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวง เยี่ยมชม และศึกษาดูงาน การขับเคลื่อนโครงการสามพรานโมเดล  ในโอกาสตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พื้นที่ จ.นครปฐม ชื่นชมสามพรานโมเดล ต้นแบบพัฒนาเกษตรอินทรีย์ครบวงจร สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

 ภายหลังการตรวจเยี่ยมพื้นที่ ศพก. ใน จ.นครปฐม  นายสุรพล จารุพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวง เดินทางไปยัง ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว  และ สุขใจออร์แกนิกฟาร์ม พื้นที่เครือข่ายสามพรานโมเดล เพื่อศึกษาดูงานการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของโครงการ พร้อมร่วมสังเกตการณ์การประชุมประจำเดือนของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ โดยมีนายอรุษ นวราช ผู้บริหาร            สามพราน ริเวอร์ไซด์ และผู้ก่อตั้ง สามพรานโมเดลให้การต้อนรับและประชุมร่วมกับเกษตรกรครั้งนี้ด้วย

 

นายสุรพล กล่าวว่า  วันนี้ตนเองตั้งใจมาดูงานโครงการสามพรานโมเดล เพราะรับทราบถึงความตั้งใจจริง และอุดมการณ์ของผู้บริหาร สามพราน ริเวอร์ไซด์  ที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมีกระบวนการทำงานที่น่าสนใจ มีการ เชื่อมโยงเครือข่ายอย่างเป็นระบบแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิต ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนำระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม  PGS  และพัฒนาสู่มาตรฐานสากล  IFAOM  ขณะเดียวกันมีการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยการแปรรูป  และการเชื่อมช่องทางการตลาด ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักสำคัญ ของการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์

 


 

ทั้งนี้ นายสุพล  กล่าวอีกว่า  จากที่ตนสังเกตรูปแบบการประชุม รวมถึงแนวคิดต่างๆ ที่เกษตรกรนำมาแชร์กันในวงประชุมวันนี้ ทำให้เห็นกระบวนการกลุ่มที่ดีมาก ผสานกับหลักคิด วิธีการขับเคลื่อนโครงการ ของคุณอรุษ  ทำให้มองว่า สามพรานโมเดล คือรูปแบบหนึ่งที่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำการเกษตรอินทรีย์ครบวงจร            ซึ่งไม่เฉพาะส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว แต่สอนให้รู้จักแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างช่องทางการตลาด  เชื่อมตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค   ซื้อขายกันในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นหลักการที่น่าสนใจ  ที่พื้นที่อื่นๆ สามารถเรียนรู้ และนำ ไปเป็นแบบอย่าง  ปรับใช้ในแต่ละพื้นได้ไม่ยาก

 

“โดยรวมได้ประโยชน์จากการดูงานครั้งนี้เป็นอย่างมาก และดีใจที่ได้ร่วมวงฟังกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมชองเกษตรกร  โรงแรม รวมถึงมูลนิธิสังคมสุขใจที่ มีการทำงานเชื่อมโยงเครือข่ายครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้ง สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชนต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้เห็นความตั้งใจของเกษตรกร ที่บอกว่า  มีอุดมการณ์            มีกฎกติกาของกลุ่ม ซึ่งตรงนี้แหละ เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”    นายสุรพล กล่าว ทิ้งท้าย