ชุมชนคูขวางตั้งชมรมจักรยานผู้สูงวัย



เบี้ยชราภาพ แม้จะจำเป็น แต่ผู้สูงอายุชุมชนคูขวาง อ.ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่กว่าการได้มาพบกัน ร่วมทำกิจกรรม ขี่จักรยานและออกกำลังกายด้วยกัน สวดมนต์ด้วยกัน

จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นของชุมชน สอดคล้องกับอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุภาพรวมของประเทศในปี 2558 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุกวา 10.5 ล้านคนหรือร้อยละ 15.8 และคาดว่าภายในปี2574 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่า19 ล้านคน หรือร้อยละ 28 ขณะที่ชุมชนคูขวางมีผู้สูงอายุกว่า 2,000 คนจากประชากรทั้งหมด 5,800 คน เกือบครึ่งหนึ่งของคนในชุมชนเป็นผู้สูงอายุ แม้ส่วนใหญ่จะยังแข็งแรง แต่ก็มีผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องดูแลจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

การรวมกลุ่ม เพื่อทำกิจกรรม ออกกำลังกาย สวดมนต์ เพื่อดูแลซึ่งกันละและกัน ช่วยให้ผู้สูงอายุจำนวนมากของชุมชนแข็งแรง และเจ็บป่วยน้อยลง

ธนโชค ชนินทยุทธวงศ์ อายุ 67 ปี ป่วยเป็นโรคหัวใจเคยขยายหลอดเลือด มาร่วมกิจกรรปั่นจักรยาน ทำให้สุขภาพดีขึ้นแม้จะต้องระมัดระวังบ้าง แต่การร่วมกิจกรรมทำให้แต่ละวันดูมีความหมายมากขึ้น

“พวกเราไม่ใช่แค่ปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกาย แต่ยังร่วมกันทำประโยชน์สาธารณะด้วย ไปทำความสะอาดวัด ไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน” ลุงธนโชค บอก

รอยยิ้มและเสียงหัวเราะระหว่าง การขี่จักรยาน ของผู้สูงอายุ ชุมชนคูขวางยืนยันได้ว่า การเจอกัน คุยกัน จึงเป็นยาชูกำลังที่ดีขนานหนึ่ง

ขณะที่ วิศิษฏ์ พงศ์พัฒนจิต ตัวแทน โครงสร้างเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุ ชุมชนคูขวาง ลาดหลุมแก้ว เล่าว่า  เริ่มต้นการร่วมกลุ่มจากความชอบส่วนตัว จากนั้นก็ขยายตัวมากขึ้น จากชวนเพื่อนร่วมปั่นหนึ่งคน เป็นสอง จนกระทั่งผ่านมา 2 ปีนี้ มีสมาชิกผู้สูงอายุในชุมชนเข้ามาร่วมกันเป็นโครงการเสริมสร้างผู้สูงอายุกว่า 50 คน

กิจกรรมของชุมชนที่เริ่มจากความสนใจปั่นจักรยานขยับมาเป็นการออกกำลังกาย และสวดมนต์ร่วมกันในวันพุธ และวันศุกร์ จะร่วมกันปั่นจักรยานเพื่อทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ในชุมชน

“ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมชมรม อายุตั้งแต่ 60 ปี ไปจนถึง 80 ปี ส่วนใหญ่มีปัญหาในเรื่องโรคเบาหวาน ความดันโลหิต” วิศิษฏ์ กล่าว

การจัดกิจกรรมมีเพียง2วันต่อสัปดาห์  โดยในวันพุธ จะออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ และสวดมนต์ ส่วนในวันศุกร์จะขี่จักรยาน ไปทำความสะอาดวัด หรือทำประโยชน์สาธารณะอื่นๆ

ทางด้าน นพพร ขาวขำ นายกเทศบาลตำบลคูขวาง เป็นอีกหนึ่งผู้สนับสนุนให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีกิจกรรมร่วมกัน โดยเขาหวังว่าผู้สูงอายุในชุมชนจะไม่แตกต่างจากที่ญี่ปุ่น ซี่งไม่เพียงช่วยเหลือตัวเองได้ หากยังร่วมกันพัฒนาชุมชนได้

“ผมเห็นตัวอย่างผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ที่ ไม่ได้เป็นภาระลูกหลานทำงาน สร้างประโยชน์ๆด้  ผู้สูงอยุในชุมชนของผมก้ไม่แตกต่างกัน เขาสามารถทำกิจกรรมสร้างประโยชน์ได้ไม่แพ้ในช่วงที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว” นายกฯ คูขวาง กล่าว

การทำกิจกรรมของผู้สูงอายุทำให้อัตราการเจ็บป่วยน้อยลง  ซึ่งในเรื่องนี้ เกศนี ชูบุบผา หัวหน้าสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลคูขวาง กล่าวว่า ผู้สูงอายุในขุมชนที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิต  เบาหวาน หรือกระทั่งโรคหัวใจ สุขภาพร่างกายแข็งแรงมากขึ้น เมื่อได้ร่วมกันออกกำลังกาย

เทศบาลจะตรวจสุขภาพ วัดระดับน้ำตาลดูแลกิจกรรมของผู้สูงอายุอย่างใกล้ฃิด เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บระหว่างการออกกำลัง ทำให้ที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมของชุมชน ได้รับความไว้วางใจจากบุตรหลาน เข้ามาร่วมสนับสนุนจนสมาชิกในกลุ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ความสุขที่ได้พบกัน ทำให้ผู้สูงอายุ โครงการสร้างเสริมสุขภาพ ชุมชนคูขวาง ขยายตัวมากขึ้น มีสามารถมาร่วมออกกำลังกาย และลูกหลานสนับสนุนจนกลายเป็นชมรมที่แข็งแรง พึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐน้อยลง

 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ