สุวิทย์ฯ ถกบอร์ด สวทน. นัดแรก ปี 61 เตรียมผุด 2 เมกะโปรเจค



ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ    (สวทน.) ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สวทน. โดยมี รศ.นพ. สรนิต          ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธาน และดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการในการประชุม

 

ประเด็นที่น่าสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมาเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมครั้งนี้ คือ โครงการนวัตกรรมประเทศไทย (Innovate Thailand) ซึ่ง สวทน. ได้จัดทำข้อเสนอขึ้น เพื่อเร่งดำเนินงานตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการผลิกโฉมระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และพันธมิตรกว่า 40 แห่ง สร้างแพลตฟอร์มการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมให้ทุนสนับสนุนแก่เอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ เกษตรอาหาร อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เกษตรสมัยใหม่ และอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น

 

เพื่อพัฒนาเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งเป้าพัฒนาอย่างน้อย 5,000 บริษัทใน 5 ปี และเกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรม มากกว่า 500 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาแรงงานทักษะสูง มากกว่า 10,000 คน ในสาขายุทธศาสตร์ เน้นกลุ่มวิศวกร ช่างเทคนิค ผู้จัดการนวัตกรรม ซิสเต็ม อินทิเกรเตอร์ และเทคโนโลยี เทรดเดอร์ รวมถึงยกระดับบริการวิเคราะห์ ทดสอบ และโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (NQI) เพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้รวดเร็วและได้มาตรฐาน และร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมสร้างโมเดลการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเขตนวัตกรรม รองรับการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรม 4.0  โดยโครงการดังกล่าวจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบสนับสนุนการใช้งบประมาณเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้

 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอในเรื่อง (ร่าง) พระราชบัญญัติพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและนวัตกรรมเชิงนโยบาย พ.ศ. .... ที่ สวทน. ได้ดำเนินการจัดทำ และที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ ตามที่ สวทน. เสนอ และให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ ประกอบด้วย การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและนวัตกรรมเชิงนโยบาย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรองประธาน มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเป็นกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น  (Startup) อย่างเป็นระบบ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมภายใต้การกำกับดูแลอย่างยืดหยุ่น (Regulatory sandbox) เพื่อเร่งกระบวนการพัฒนานวัตกรรมในประเทศ และเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีรูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ สามารถเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มได้

 

โดย พรบ. ฉบับนี้ จะมีการกำหนดนิยามของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ทั้งประเภทบุคคลธรรมดา และประเภทนิติบุคคล เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์แก่วิสาหกิจเริ่มต้นอย่างครบวงจร ให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ และยังจะมีการพัฒนาเกณฑ์การสนับสนุนให้ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้กฎระเบียบและกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นภายในพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมที่จำกัด (National Regulatory Sandbox) ซึ่ง สวทน. จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยในเบื้องต้นได้กำหนดการพัฒนา Regulatory Sandbox นำร่อง ใน 3 หัวข้อ คือ 1. National Fintech Sandbox: ด้านการเงิน การลงทุน และการประกัน โดยร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 2. Sharing Economy Sandbox : ด้านเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) และ 3. Agritech & Foodtech Sandbox : ด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร

 

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังให้ความสำคัญในการเร่งผลักดันให้เกิด Ease of doing Innovation Business เพื่อส่งเสริมการพัฒนา และแก้ไขปัญหาให้ธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมในประเทศไทย เนื่องจากมาตรการสนับสนุนธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมในปัจจุบันบางส่วนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการที่มีความแตกต่างกันได้ โดยให้เร่งศึกษาแนวทางการดำเนินการดังกล่าว ให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา เพราะต่อจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะดำเนินงานมุ่งเน้นไปที่ Tech Based ภายใต้แนวคิด Innovation Driven Economy ขณะเดียวกันกระทรวงยังมีความพยายามที่จะนำข้อมูลด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ให้เข้าถึงระดับท้องถิ่นด้วย

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ