สวทช.-องค์การสวนสัตว์ ร่วมวิจัยพัฒนาพร้อมสร้างความรู้ใหม่

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยวัณโรค ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) และองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีความร่วมมือในงานวิจัยเกี่ยวกับชุดตรวจวัณโรคในช้างเป็นระยะเวลาพอสมควร ซึ่งงานมีความก้าวหน้าตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดแนวทางปฎิบัติแก่งานวิจัยอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นร่วมกันระหว่างนักวิจัยทั้ง 2 ฝ่าย จึงจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการขึ้น เพื่อร่วมมือกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ และการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ การอนุรักษ์ การดูแลสุขภาพ พยาธิวิทยา พันธุศาสตร์ รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า ซึ่งการดูแลสัตว์ป่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสัตว์ป่ามีคุณค่าต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จำเป็นยิ่งที่ต้องป้องกันและแก้ไขไม่ให้สัตว์ป่าลดจำนวนหรือสูญพันธุ์ ซึ่งสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์บางชนิดมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหาร ช่วยรักษาสมดุลของประชากรสัตว์ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของป่า การอนุรักษ์สัตว์ป่าทุกพันธุ์ให้ดำรงอยู่ต่อไปตามธรรมชาติจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสมบูรณ์และสมดุลทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเพื่อให้สัตว์ป่าเองนั้นมีพัฒนาการเป็นไปโดยธรรมชาติ

จากความสำคัญของการดูแลสัตว์ป่า สวทช. จึงได้สนับสนุนงานวิจัยในด้านต่างๆ พร้อมทั้งการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างยั่งยืน เช่น

• การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษานิเวศวิทยาและติดตามสัตว์ป่า โดยการใช้เทคโนโลยีสัญญาณดาวเทียมพลังแสงอาทิตย์ (Solar powered satellite tags) ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อติดตามการอพยพย้ายถิ่นของเหยี่ยวแบบ near real time ซึ่งเป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

• การใช้วิทยุติดตามงูจงอาง เพื่อศึกษานิเวศวิทยาเชิงพื้นที่ แหล่งอาศัย และพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของงูจงอาง (Ophiophagus hannah) ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ซึ่งงูจงอางจัดอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในบัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ   

• การดำเนินการศึกษาสถานภาพการกระจายและประชากรของนากและสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กชนิดอื่นๆ ในป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระนองและพังงา ซึ่ง สวทช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่อง เพื่อขยายพื้นที่วิจัยในจังหวัดกระบี่ ตรัง สตูล ให้ครอบคลุมพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามัน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ใช้โดรนในงานวิจัย เช่น โครงการจัดทำแผนที่หญ้าทะเลและทรัพยากรชายฝั่งโดยโดรนขนาดเล็ก และโครงการสำรวจประชากรพะยูนโดยใช้โดรนขนาดเล็ก เป็นต้น

ซึ่งการดำเนินข้างต้น สวทช. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และจังหวัดตรัง ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกัน มีระยะเวลา 5 ปี (ปี 2559 - 2563) ไว้แล้ว

“สำหรับครั้งนี้ ด้วยความพร้อมของนักวิจัยและการได้รับความร่วมมือเป็นอันดีจากองค์การสวนสัตว์ เพื่อผลักดันงานวิจัยให้ได้รับการใช้ประโยชน์ สวทช. มีความยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุน ได้แก่ ข้อมูลเทคนิคทางวิชาการและวิทยาการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของ สวทช. การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรขององค์การสวนสัตว์ให้เข้าฝึกอบรมหรือประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องร่วมกับ สวทช. และการร่วมศึกษาและวิจัย พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อประโยชน์ในงานวิจัยร่วมกันในด้านการอนุรักษ์ด้านสัตว์ป่า การตรวจโรคสัตว์ป่า การตรวจสุขภาพสัตว์ป่า การชันสูตรโรคสัตว์ป่า ความหลายทางพันธุกรรม รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว



ด้าน นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือระหว่างองค์การสวนสัตว์ กับ สวทช. จะเป็นก้าวกระโดดสำหรับองค์การสวนสัตว์ เพราะทางองค์การสวนสัตว์เองมีทรัพยากรเรื่องสัตว์ป่าค่อนข้างมาก รวมถึงเรื่องพันธุ์พืช และสถานที่ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางวิจัยสำหรับนักวิจัย สวทช. ที่จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ นำวิทยาศาสตร์มาพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงยังสามารถส่งต่อความรู้นี้กระจายไปสู่พี่น้องประชาชนได้ เพราะทางองค์การสวนสัตว์มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมสวนสัตว์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ มากถึงราว 6 ล้านคนต่อปี”