มทร.สุวรรณภูมิจับมือชาวบ้านสามเรือนตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเห็ดตับเต่า



เห็ดตับเต่า เป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของตำบลสามเรือน อ. ปางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเห็ดตับเต่าตามธรรมชาติใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากเห็ดตับเต่าไม่สามารถเพาะปลูกได้แต่ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมเท่านั้นเห็ดจึงจะเกิด ซึ่งอัตลักษณ์นี้ทำให้ชุมชนสามเรือนกลายเป็นพื้นที่ที่มี เห็ดตับเต่า เป็นต้นทุนที่สามารถพัฒนาไปสู่การสร้างรายได้ของคนในชุมชนได้ไม่ยาก

ในอดีต ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้จักเห็ดชนิดนี้ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่าว่า รู้จักเห็ดตับเต่าจากคนภาคอีสานที่นำมาแปรรูปรับประทาน จากนั้นคนพื้นที่จึงเริ่มนำเห็ดมาปรุงเป็นอาหารเรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน ในฤดูที่เห็ดออกจำนวนมาก จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่ ส่วนนอกฤดูเห็ดตับเต่าก็จะไม่เห็ดรับประทานนอกจากบางบ้านที่สามารถแช่แข็งเห็ดไว้

ดร.วิจิตรา และดร.วชิรญา เหลียวตระกูล สองพี่น้องนักวิจัยเชิงพื้นที่จากคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิจึงนำมาเป็นโจทย์วิจัย “โครงการส่งเสริมศักยภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดตับเต่าแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลสามเรือน” โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้กรอบวิจัยเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชน

โดยประสานงานผ่านอบต.สามเรือน และชาวบ้านที่ต้องการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน นำความรู้วิทยาศาสตร์การแปรรูปไปให้ชาวบ้าน นำปัญหาของชาวบ้านมาวิจัยต่อในห้องทดลอง ใช้ระยะเวลาในการวิจัยถึง 3 ปีปีแรกเน้นเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปีที่สองเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้เรื่องสุขาภิบาล ทำอย่างไรให้อาหารปลอดภัย  เรื่อง 5 ส. ส่วนปีที่ 3 ทำเรื่อง by -product จากตัวกระบวนการแปรรูป พวกน้ำทิ้งจากการลวกเห็ด การตัดแต่งตัวเห็ด ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมาก ผลการวิจัยจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชาเห็ดตับเต่าผสมสมุนไพรและน้ำเห็ดตับเต่าผสมสมุนไพรพร้อมดื่มไปใช้แปรรูปเห็ดตับเต่าที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยกรณีล้นตลาด จำหน่ายไม่ทัน และเห็ดตับเท่าในระยะที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ เช่น ดอกเล็กหรือใหญ่เกินไป รวมถึงการใช้เห็ดตับเต่าที่เหลือจากกระบวนการแปรรูป ได้แก่ น้ำต้มเห็ดตับเต่า และเปลือกที่เหลือจากการตัดแต่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดช่วยในการเพิ่มมูลค่า และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าแปรรูปจากเห็ดตับเต่า

ชาวบ้านคุณจำลอง จักร์กร หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปรรูปเห็ดตับเต่า กล่าวว่า อาจารย์เข้ามาทีแรก 30 คนไม่มีใครสนใจเลย เพราะชาวบ้านคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่พอหลังๆ รายได้เริ่มดีชาวบ้านก็เข้ามารวมกลุ่มกันตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากนักวิจัยก็คือเรื่องคุณสมบัตรสรรพคุณของเห็ดตับเต่าที่เราไม่เคยรู้มาก่อนแล้ว แล้วก็เรื่องการคำนวณต้นทุนกำไร การบรรจุภัณฑ์ รู้สึกประทับใจทีมอาจารย์มาก ปัจจุบันแม้โครงการวิจัยจะสิ้นสุดลง แต่ตนยังต้องอาศัยความรู้จากนักวิชาการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กระบวนการบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อให้สินค้าสะอาดและเก็บได้นานการวิเคราะห์วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การคิดคำนวณต้นทุนกำไร

“ตอนนี้ผลิตภัณฑ์จากเห็ดตับเตาเราหลากหลายมาก มีทั้งน้ำพริก ขนมเปี๊ยะเห็ดตับเต่า เห็ดตับเต่าในน้ำเกลือ ข้าวเกรียบเห็ดตับเต่า ตอนนี้ยอมรับว่าเราจะแปรรูปเห็ดเป็นอะไรก็ได้บนโลกใบนี้ เพราะเราได้รับความรู้จากอาจารย์มาเรารู้สึกว่าเรามีความมั่นใจในการที่จะคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เน้นเรื่องความสะอาด ปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามเรายังต้องการความรู้และผู้รู้มาช่วยเอาผลิตภัณฑ์ช่วยเข้าห้องแลปช่วยตรวจสอบ หรือถ้าเราจะขึ้นผลิตภัณฑ์ใหม่จะทำได้ไหม จะทำตัวนี้จะเอาตัวอะไรมาผสม มันจะมีกลิ่นไหม ต้องระวังเรื่องอะไร ซึ่งปัจจุบันอาจารย์ทั้งสองท่านก็ยังลงมาชุมชนอยู่เขาทุ่มเทให้กับพวกเรามาก เรารู้สึกซาบซึ้งใจ แต่ว่าช่วงหลังๆ จบงานวิจัยแล้วแต่พวกเราก็ยังมียกหูไปถามอาจารย์เขาบ้าง ในเรื่องที่เราไม่รู้ เขาก็น่ารักคอยให้คำปรึกษาเราเหมือนเดิม“

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ