แอพฯเตือนไฟป่า ลดสูญเสียสวนทุเรียนหลงลับ



นักวิจัย มรภ.อุตรดิตถ์  สร้างระบบวิเคราะห์ไฟป่าจากภาพถ่ายดาวเทียม พร้อมพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ที่ทำให้ผู้ปลูกทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแลในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รู้ว่ามีขณะนี้ไฟป่าเกิดขึ้นใกล้กับสวนทุเรียนของตนหรือไม่

 

ดร.ศักดิ์ดา หอมหวล อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีสำรวจและภูมิสารสนเทศ มรภ.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน หลงลับแล (รวมถึงหลินลับแล) ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักร้อยล้านของจังหวัดอุตรดิตถ์ว่า การปลูกทุเรียนดังกล่าวเป็นการปลูกแบบวนเกษตรหรือปลูกตามธรรมชาติ  บริเวณเชิงเขา หรือที่ลาดชัน โดยพึ่งพาน้ำจากธรรมชาติ นอกจากจะเป็นข้อจำกัดในแง่ของการเพิ่มพื้นที่ปลูกแล้ว ทุเรียนเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากไฟป่าในหน้าแล้งอีกด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการลงพื้นที่เพื่อคุยแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์  ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมการผลิตทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแลในระบบวนเกษตร  ร่วมกับนักวิจัยอีกหลายสาขา เมื่อปลายปี 2560

และด้วยประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลด้านไฟป่า กับความก้าวหน้าด้านอุปกรณ์ตรวจจับระยะไกล (remote sensing เช่น ดาวเทียม, โดรน) และเทคโนโลยีสื่อสารในปัจจุบัน  ทำให้ ดร.ศักดิ์ดา ต้องการยกระดับการเตือนไฟป่า จากเดิมที่ระบุได้เพียงว่า ณ เวลานั้น มีจุดความร้อน (Hot Spot) เกิดขึ้นที่ใดเท่านั้น มาเป็นระบบที่สามารถวิเคราะห์ว่าจุดความร้อนนั้นน่าจะเป็นไฟป่าหรือไม่ ได้ด้วยตัวของมันเอง

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบติดตามและเตือนภัยไฟป่าในพื้นที่วนเกษตร จังหวัดอุตรดิตถ์” ที่มี ดร.ศักดิ์ดา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้สร้างระบบอัตโนมัติที่สามารถนำข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล ทั้งภาพถ่ายดาวเทียม และภาพถ่ายทางอากาศ ณ เวลาล่าสุด มาหาจุดความร้อนที่อยู่ในบริเวณป่าหรือพื้นที่วนเกษตร  พร้อมทั้งนำข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่นั้น เช่น มวลชีวภาพ (การสะสมของเศษซากไม้) ความชื้นสัมพันธ์เฉลี่ย ความลาดชัน ฯลฯ  มาเข้าโปรแกรมเพื่อหาจุดที่เสี่ยง “ไฟป่า”   และแจ้งข้อมูลนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบ (เช่น สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุตรดิตถ์) เข้าไปตรวจสอบและประกาศเตือนภัยต่อไป

นายสมพร ขันปิงปุ๊ด หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุตรดิตถ์ (ปภ.อุตรดิตถ์) ซึ่งได้ร่วมในโครงการวิจัยนี้ กล่าวว่า ระบบที่อาจารย์พัฒนาขึ้นได้ข่วยเสริมการทำงานของ สปภ.ได้เป็นอย่างดี

“แม้ที่ผ่านมาตัวเลขของการเกิดไฟป่าจะลดลง แต่ก็ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อไฟในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นโอกาสที่จะไฟป่าจะลุกลามอย่างรุนแรงก็มีสูงขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้นยิ่งเราสามารถระบุตำแหน่งของการเกิดไฟป่าได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะช่วยความได้มากขึ้น   ซึ่งการได้ร่วมพัฒนาระบบติดตามและเตือนภัยไฟป่าชิ้นนี้กับทาง ดร.ศักดิ์ดา ทำให้เรามีระบบที่สามารถใช้คู่ไปกับระบบติดตามไฟป่าเดิม ซึ่งยิ่งช่วยให้เรามีความมั่นใจในการเฝ้าระวังและจัดการไฟป่าในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์มากยิ่งขึ้น”

นอกจากจุดเด่นที่ระบบวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงไฟป่าของเราสามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ ทันที่ที่มีข้อมูลใหม่เข้ามาแล้ว ทีมวิจัย ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับเจ้าหน้าที่  และแอพพลิเคชั่นบนมือถือสำหรับเกษตรกรเพื่อใช้ในการติดตามและแจ้งสถานการณ์ไฟป่า  ที่ช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสรู้ได้เร็วขึ้น เพราะเพียงแต่เปิดแอพพลิเคชั่นมาก็จะรู้ได้ทันทีว่า ณ เวลานี้  มีจุดที่เสี่ยงจะเกิดเป็นไฟป่าอยู่ใกล้กับสวนทุเรียนของตนหรือไม่ 

นายดำเนิน เชียงพันธ์ เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน ทีได้เข้าร่วมในงานวิจัยและได้ทดลองใช้แอพพลิเคชั่นนี้ บอกว่า เมื่อก่อนตอนเกิดไฟป่าเราแทบจะไม่รู้เลย รู้อีกทีก็ตอนมันลุกลามใหญ่โต หรือเข้ามาใกล้แล้ว แต่ตอนนี้เรารู้ได้จากมือถือตั้งแต่ตอนที่มันเกิดเลย ว่ามีไฟป่าเกิดที่จุดไหน มีแนวโน้มจะขยายหรือลุกลามไปทางใด เป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับชาวสวนทุเรียนได้ในระดับหนึ่ง

ดร.ศักดิ์ดา หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวสรุปว่า จุดเด่นของงานวิจัยนี้ รวมถึงงานวิจัยอื่นๆ ภายใต้ชุดโครงการนี้ก็คือ การมีกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาหรือความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ก่อนพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยเพื่อให้ได้ “ความรู้” ที่สามารถช่วยเขาได้อย่างแท้จริง  ซึ่งปัจจุบันระบบที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นก็มีการเชื่อมต่อกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุตรดิตถ์แล้ว ขณะที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนก็มีก็สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.cgi.uru.ac.th/udsafe/ หรือดูดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “เพื่อนเตือนภัย” (ระบบ Android) ได้เช่นกัน โดยนอกจากระบบเตือนภัยไฟป่าแล้ว ทีมวิจัยด้านพิบัติภัย ภายใต้ ชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมการผลิตทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแลในระบบวนเกษตรเพื่อความมั่นคงทางด้านเกษตรและอาหารของจังหวัดอุตรดิตถ์  ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ยังมีการพัฒนาระบบเตือนภัยเรื่องดินถล่ม และเรื่องภัยแล้ง ที่จะช่วยสนับสนุนการด้านพิบัติภัยสำหรับจังหวัดจังหวัดอุตรดิตถ์ให้ดียิ่งขึ้น

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ