“การหาเสียงกับการเลือกตั้ง 2562”



ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน   เรื่อง “การหาเสียงกับการเลือกตั้ง 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 มกราคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง 2562 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์          ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองว่าจะสามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้จริง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่  ร้อยละ 53.28 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 23.84 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 20.48 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 2.40 ระบุว่า เชื่อมั่นมากที่สุด

สำหรับนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งจะมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัคร ส.ส. มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.32 ระบุว่า มีผลต่อการตัดสินใจค่อนข้างมาก รองลงมา ร้อยละ 28.08 ระบุว่า ไม่ค่อยมีผลต่อการตัดสินใจ ร้อยละ 15.36 ระบุว่า มีผลต่อการตัดสินใจมาก และร้อยละ 14.24 ระบุว่า ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลย

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการซื้อ – ขายเสียง ช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.16   ระบุว่า มีแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 18.88 ระบุว่า ไม่มีแน่นอน และร้อยละ 2.96 ระบุว่า ไม่แน่ใจ              

เมื่อถามถึงความกระตือรือร้นของประชาชนที่จะไปลงคะแนนเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ หลังจากไม่มีการเลือกตั้งมา 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.64 ระบุว่า   มีความกระตือรือร้นเพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 19.68 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้น และร้อยละ 7.68 ระบุว่า ไม่มีความกระตือรือร้นเลย    

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงลักษณะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ประชาชนอยากได้มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.32ระบุว่า เข้าถึงประชาชน เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไข รองลงมา ร้อยละ 15.36 ระบุว่า มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ ร้อยละ 14.16 ระบุว่า มีนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้ ร้อยละ 12.24 ระบุว่า ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง     อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ ร้อยละ 9.84 ระบุว่า มีประวัติการทำงานหรือผลงานที่ผ่านมาดีและเป็นที่ยอมรับ ร้อยละ 7.60 ระบุว่า     รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ร้อยละ 6.48 ระบุว่า เป็นผู้มีอุดมการณ์ ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี ร้อยละ 2.96 ระบุว่า ส.ส.หน้าใหม่     หรือ คนหนุ่มสาว และร้อยละ 1.04 ระบุว่า ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เช่น แจกเงินหรือสิ่งของเพื่อให้ผู้ใดลงคะแนนให้ตนเอง

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ