สธ. เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์



กระทรวงสาธารณสุข จัดให้บริการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ให้ชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ ประจำปี 2562 จำนวน 13,000 คน พร้อมทั้งจัดทีมแพทย์ พยาบาล ร่วมดูแลสุขภาพระหว่างประกอบศาสนกิจที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย และเฝ้าระวังติดตามสุขภาพหลังกลับมาด้วย

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2562) ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ  กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  นายอรุณ บุญชม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี  อับดุลอิลาห์ อัลชุอัยบี อุปทูตซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย  พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิดโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่ไปแสวงบุญณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปี 2562  โดยในวันนี้มีผู้มารับบริการฉีดวัคซีน ประมาณ 1,500 คน

 นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ 2-3 ล้านคน เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ในจำนวนนี้เป็นชาวไทยมุสลิม จำนวน 13,000 คน ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้กำหนดให้ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น ก่อนเดินทางเข้าประเทศ  ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้มีการฉีดวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น และเพิ่มวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ พร้อมทั้งตรวจสุขภาพให้กับผู้แสวงบุญทุกคน รวมถึงได้จัดระบบดูแลสุขภาพพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพก่อนการเดินทาง ระหว่างการเดินทาง และหลังการเดินทาง  นอกจากนี้ ในปีนี้ได้มีการเตรียมระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาพของผู้แสวงบุญ เพื่อการเฝ้าระวังและติดตาม โดยจะรายงานสถานะสุขภาพแบบ Real time และมีสมุดวัคซีนที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้

แนวทางในการดูแลสุขภาพผู้เดินทางไปแสวงบุญ ดังนี้ 1.ก่อนเดินทาง ให้บริการตรวจสุขภาพและประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพโดยหน่วยบริการสาธารณสุขและทีมหมอครอบครัว พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทั่วประเทศ ฟรี และออกเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโรค (เล่มเหลือง)  2.ขณะอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย จัดส่งหน่วยแพทย์พยาบาลของไทย ดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด  และ 3.หลังกลับจากพิธีฮัจย์ จัดให้มีระบบเฝ้าระวังติดตามสุขภาพและโรคติดต่อสำคัญ เช่น โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เป็นระยะเวลา 30 วัน โดย อสม.ฮัจย์ และทีมหมอครอบครัว เป็นผู้ประสานงานระดับพื้นที่ และสร้างเครือข่ายผู้ประสานงานฮัจย์ หรือมิสเตอร์ฮัจย์ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ