“รู้สึกอย่างไร เมื่อ คสช. กำลังจะหมดหน้าที่”



 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน  เรื่อง “รู้สึกอย่างไร เมื่อ คสช. กำลังจะหมดหน้าที่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤษภาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป      ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,257 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและความสุขของคนในชาติ หลังจากครบรอบ 5 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และความรู้สึกของประชาชนเมื่อ คสช.กำลังจะหมดหน้าที่ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

                จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนเมื่อ คสช. กำลังจะหมดหน้าที่ในทันทีที่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 24.50 ระบุว่า รู้สึกดีใจ น่าจะไปได้ตั้งนานแล้ว รองลงมา ร้อยละ 23.79 ระบุว่า ไม่มีความรู้สึกใด ๆ ร้อยละ 13.84 ระบุว่า              รู้สึกอยากขอบคุณที่ช่วยดูแลประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 13.29 ระบุว่า รู้สึกเสียดาย น่าจะอยู่ต่อไป ร้อยละ 9.55 ระบุว่า รู้สึกว่า             ความวุ่นวายทางการเมืองแบบเก่า ๆ กำลังจะกลับมา ร้อยละ 9.07 ระบุว่า รู้สึกว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังจะเดินหน้า ร้อยละ 8.19 ระบุว่า                  รู้สึกว่าประเทศกำลังจะเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ร้อยละ 5.33 ระบุว่า รู้สึกว่าประเทศเสียโอกาสไปมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 1.91 ระบุว่า รู้สึกกังวลว่านักการเมืองที่เข้ามาจะทำให้ประชาธิปไตยบิดเบือน และร้อยละ 0.72 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ อยากให้นักการเมืองชุดใหม่เข้ามาสานต่อ ในโครงการที่ดี ๆ ต่อจากโครงการเดิม เศรษฐกิจแย่เหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และกังวลว่านักการเมืองชุดใหม่จะเข้ามาบริหารไม่ดีเหมือนชุด คสช.

   ด้านระดับความสุขของประชาชนในโอกาสครบรอบ 5 ปีที่ คสช. เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.63 ระบุว่า มีความสุขเท่าเดิม เพราะ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชีวิตความเป็นอยู่ยังคงเหมือนเดิม การบริหารงานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เศรษฐกิจและค่าครองชีพยังสูงเช่นเดิม รองลงมา ร้อยละ 33.73 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะ เศรษฐกิจปากท้องของประชาชนแย่ลง ค่าครองชีพสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การบังคับใช้กฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายไม่ตรงจุด มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป  และขาดความมั่นคงทางประชาธิปไตย และร้อยละ 21.64 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะ การบริหารงานต่าง ๆ ดี มีการช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่มีการชุมนุมและความวุ่นวายทางการเมือง บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ  4 ปี 6 เดือน คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนเท่า ๆ กัน (จากเดิม ร้อยละ 21.20 เป็นร้อยละ 21.64) เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลง    มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 30.64 เป็นร้อยละ 33.73) ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิม มีสัดส่วนลดลง (จากเดิม ร้อยละ 47.68 เป็นร้อยละ 44.63)

 สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 5 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่  ร้อยละ 48.69 ระบุว่า บ้านเมืองสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 30.55 ระบุว่า    ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข ร้อยละ 5.81 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 4.46 ระบุว่า การจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 2.94 ระบุว่า การมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 2.47 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 2.15 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 0.95 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 0.32 ระบุว่า การมีเสรีภาพมากขึ้น และร้อยละ 1.66 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง เช่น ด้านคมนาคม โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

                ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 5 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ยังไม่ทำให้มีความสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.82 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม รองลงมา ร้อยละ 16.31 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข ร้อยละ 14.00 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 9.47 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 9.07  ระบุว่า การที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 5.09 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 2.55 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 1.51 ระบุว่า การมีเสรีภาพที่ยังไม่เต็มที่ของสื่อมวลชน ร้อยละ 0.95 ระบุว่า การจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบ                 ทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด และร้อยละ 2.23 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหายาเสพติด สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในสังคม การบังคับใช้กฎหมายในบางเรื่องที่เข้มงวดมากเกินไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า การแก้ปัญหาระบบการศึกษา การปฏิรูปประเทศ และการปฏิรูปองค์กรตำรวจ