สสส.เปิดตัว “มหาวิชชาลัยบ้านแฮดสร้างความเท่าเทียม”



สสส.เปิดตัว “มหาวิชชาลัยบ้านแฮดสร้างความเท่าเทียม” มหาวิชชาลัยแห่งแรกของภาคอีสาน ชี้สร้างกลไกความเท่าเทียม-ยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น ยึดหลักสร้างการเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วม และธรรมภิบาล เป็นต้นแบบตำบลสุขภาวะ “หมู่บ้านจัดการขยะครบวงจร” ตั้งเป้าปี 2563 ขยะต้องกำจัดเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่เทศบาลตำบลบ้านแฮด อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น และภาคีเครือข่าย ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์สนับสนุนทางวิชาการภาค (ศวภ.) และอัตถจริยา จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นพื้นที่อีสาน “มหาวิชชาลัยกลไกสร้างความเท่าเทียม-ยั่งยืน” เพื่อสร้างการเรียนรู้ขบวนการเพิ่มขีดความสามารถชุมชนท้องถิ่นให้ทำหน้าที่เป็น “กลไก” ขับเคลื่อนการพัฒนาแบบมุ่งเป้าไปสู่การสร้างความเท่าเทียมและมีความยั่งยืน โดยมีปฏิบัติการของชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบเทศบาลตำบลบ้านแฮดเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เข้าร่วมเวที พร้อมเปิดตัวมหาวิชชาลัยบ้านแฮดสร้างความเท่าเทียม”  โดยมี นายปานทอง สระคูพันธ์รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานในพิธี นอกจากนี้ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มอบรางวัลให้แก่ “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ตำบลบ้านแฮด” จำนวน 40 คน จากผู้นำ 556 คน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 500 คน

นายธวัชชัย  ฟักอังกูร ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ “สุดยอดองค์ความรู้ สุดยอดผู้นำ” ว่า การพัฒนาสุขภาวะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สสส. มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาวะ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานของประเทศ สิ่งสำคัญของการพัฒนาสุขภาวะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คือต้องสร้างผู้นำในชุมชน เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้นำ ซึ่งจะต้องนำทั้งความคิดและปัญญา ชาวบ้านให้การยอมรับ ศรัทธา และเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติจนเกิดผล การขับเคลื่อนภาระกิจด้านสุขภาวะจึงจะประสบผลสำเร็จ ขณะที่การจัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นพื้นที่อีสาน ถือเป็นการสร้างการเรียนรู้ขบวนการเพิ่มขีดความสามารถชุมชนท้องถิ่นให้ทำหน้าที่เป็น “กลไก” ขับเคลื่อนการพัฒนาแบบมุ่งเป้าไปสู่การสร้างความเท่าเทียมและมีความยั่งยืน โดยมีปฏิบัติการของชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบเทศบาลตำบลบ้านแฮดเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เข้าร่วมเวที รวมถึงให้เห็นบทบาทของเทศบาลตำบลบ้านแฮดในการทำหน้าที่ “มหาวิชชาลัยบ้านแฮดสร้างความเท่าเทียม”

ด้าน ดร.ศิริพงษ์  อรุณเดชาชัย นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแฮด กล่าวว่า เทศบาลตำบลบ้านแฮด ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา และได้พัฒนาพื้นที่จนสามารถยกระดับเป็นศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นพื้นที่ต้นแบบตำบลสุขภาวะ และสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับ อปท.เครือข่ายและ อปท.ที่สนใจในการเรียนรู้เพื่อจัดการกับประเด็นปัญหาต่างๆโดยชุมชนท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “การจัดการตนเอง โดยใช้พื้นที่ตำบลเป็นตัวตั้ง” ครอบคลุมการขับเคลื่อนงานและกิจกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม เศรษฐกิจ สภาวะแวดล้อม สุขภาพ และการเมืองการปกครองจนกระทั่งปี 2561 สสส.เห็นศักยภาพของ ทต.บ้านแฮด และยกระดับเป็น “มหาวิชชาลัยบ้านแฮดสร้างความเท่าเทียม” BANHAD UNIVERSITY OF TECHNOLOGY FOR EQUITY (BANHAD UTE) เป็นพื้นที่ฝึกอบรม ที่มีหลักสูตรการสร้างความเท่าเทียมโดยชุมชนท้องถิ่น (Community  Based Development For Equity: CDE) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเอง โดยยึดหลักสร้างความเท่าเทียมและยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วนที่มีความโดดเด่น และเป็นระบบชัดเจน มีการสร้างการเรียนรู้ให้ครอบคลุม ขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ซึ่งทุกคนที่บ้านแฮดมีความภาคภูมิใจอย่างมากในการยกระดับเป็น “มหาวิชชาลัยบ้านแฮดสร้างความเท่าเทียม” ได้ และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนกระจายองค์ความรู้ไปสู่ท้องถิ่นไม่เฉพาะเครือข่าย สสส. เท่านั้น แต่จะขยายครอบคลุมในทุกชุมชนที่มีความสนใจ

“ตัวอย่างรูปธรรมในพื้นที่ คือ การที่บ้านแฮด เริ่มต้นการจัดการขยะ ปี 2553 เพื่อลดขยะตกค้างและโรคติดต่อ เราค้นพบว่า “ขยะ” เป็นมากกว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องดิน น้ำ ป่า พลังงาน รวมไปถึงการสร้างทัศนคติของคน และกระทบสุขภาพ จนกระทั่งสามารถจัดการกับปัญหาและพัฒนาไปสู่หมู่บ้านบริหารจัดการขยะในชุมชนอย่างครบวงจรในปี 2554 อีกทั้งส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ด้วย ซึ่งทางบ้านแฮดยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาชุมชน ด้านการบริหารจัดการขยะในชุมชนอย่างครบวงจรสู่ความยั่งยืน ได้วางแผนขยายกิจกรรมให้ครอบคลุมทั้ง 8 ชุมชน โดยบูรณาการร่วมกันในทุกภาคส่วนทั้งองค์กรชุมชน โดยเฉพาะครัวเรือน กลุ่มต่างๆ ผู้นำชุมชน ภาคเอกชน และการหนุนเสริมจากหน่วยงานรัฐ ในปี 2562 มุ่งให้สร้างชุมชน Zero Waste ในปี 2563”ดร.ศิริพงษ์   กล่าว

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ