“เพื่อปากท้องของประชาชน หรือสวรรค์ของนักการเมือง”



ชัดเจนแล้ว!!! หลังประชุมสภาเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ผลการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนเสียงท่วมท้น 500/244 ชนะคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปมากพอสมควร ด้วยคะแนนเสียงจากวุฒิสมาชิกอีก 250 เสียงที่ไม่มีตกหล่นแม้แต่คะแนนเดียว ทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังคงเป็นของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนเดิม ท่ามกลางฝุ่นควันการต่อรองกระทรวงต่าง ๆ ในพรรคร่วมรัฐบาลแบบวุ่นวายขายปลาช่อน แต่สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปสำหรับการจัดสรรปันส่วนการดูแลกระทรวงสำคัญๆ ไม่ทราบว่าท้ายสุดแล้วแต่ละพรรคร่วมจะได้ตามที่ดีลเดิมด้วยดีหรือไม่

 

สำหรับกระทรวงที่มีบทบาทที่สุด เห็นจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่หลายพรรคหลายกลุ่มต่างจ้องมองพุงปลาตาเป็นมัน เนื่องด้วยมีงบประมาณประจำปีสูงถึง “แสนกว่าล้านบาท”(108,539,324,700 ล้านบาท ที่มา : เอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562) ซึ่งนับว่าเป็นกระทรวงสำคัญเกรดเอของประเทศ ที่ผ่านการบริหารจัดการมาหลายยุคหลายสมัย แต่ยังไม่มีรัฐบาลสมัยไหนจะสามารถแก้ปัญหาเกษตรกรได้จริงจังเสียที หรือแม้แต่รัฐบาลที่มีมาตรา 44 มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ยังไม่สามารถทำให้เกษตรกรไทยลืมตาอ้าปากได้จริง ๆ สักที ยังคงวนเวียนกับปัญหาในวงจรเดิม เช่น ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ น้ำท่วม ฝนแล้ง สารพิษตกค้าง เจ็บป่วยจากสารพิษ เป็นหนี้เป็นสิน ขายที่ดิน เช่านานายทุนทำอยู่ร่ำไป มิหนำซ้ำนายทุนใหญ่ ๆ ยังขยับล้วงมือเข้ามาได้ใกล้กว่าเดิม

 

“และผู้ที่ได้กระทรวงนี้ไปรับผิดชอบก็เป็นไปตามคาด คือพรรคประชาธิปัตย์ แต่อย่างไรก็ตามชีวิตของประชาชนคนไทยก็ต้องดำรงคงอยู่ต่อไป อย่าเพิ่งท้อแท้สิ้นหวัง “ชาติ” ย่อมต้องขับเคลื่อนไปด้วยพลังประชาชน หัวใจประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตยที่เคลือบด้วยยาฆ่าแมลงหรือสารพิษคุมฆ่าหญ้า” ก็ตาม.... พวกเราก็ต้องช่วยกันขยันรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบำรุงกันต่อไป เพื่อให้ประชาธิปไตยของเราเติบโตเต็มใบอย่างยั่งยืน...และปลอดภัยไร้สารพิษในที่สุด ถึงแม้ต้องใช้รัฐบาลอีกหลายสมัยในการขับเคลื่อนก็ตาม”

 

สิ่งที่อยากจะฝากให้รัฐบาลใหม่ช่วยดูแลแก้ปัญหาก็คงจะไม่พ้นเรื่องเดิม ๆ คือเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ควรจะต้องมีนโยบายและมาตรการกระตุ้นให้เกิดผลบวกเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มิใช่ปล่อยไปตามยถากรรม ตามราคาตลาด หรืออะไร ๆ ก็อ้างตลาดโลก เราควรมีการบริหารจัดการอย่างมีแบบแผน โดยเฉพาะเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มมูลค่า (Value Added) ให้แก่ผลผลิตภาคการเกษตร ทั้งยังเป็นการช่วยให้สุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ อันมีผลพวงมาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่นับวันจะมีตัวเลขสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2553 มีตัวเลขประชาชนเจ็บป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 1,572 ราย ปี 2554 เท่ากับ 2,546 ราย, ปี 2555 เท่ากับ 5,111 ราย, ปี 2556 เท่ากับ5,589 ราย, ปี 2557 เท่ากับ 6,480 ราย, ปี 2558 เท่ากับ 5,823 ราย และในปี 2559 มีเพิ่มขึ้นไปถึง 9,039 ราย 

จะเห็นว่าตัวเลขของประชากรที่เจ็บป่วยจากพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพิ่มขึ้นทุกปีและมีนัยยะสำคัญที่รัฐบาลควรจะเข้ามาใส่ใจ เพื่อพัฒนาประเทศชาติและประชาชนให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ อีกทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยให้ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ควรจะต้องนำมาปฏิบัติเป็นอันดับต้น ๆ จากนโยบายทั้งหมด ก็หวังว่าข้อมูลอันเล็กน้อยเหล่านี้จะช่วยให้ผู้นำรัฐบาล 500 จะคล้อยตามเห็นด้วยได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่าให้ได้ชื่อว่าเป็น “กระทรวงเนื้อหอม ที่ใคร ๆ ก็ชอบและทำเพื่อปากท้องของประชาชน หรือเป็นแค่สวรรค์ของนักการเมืองเท่านั้น”

 

ที่มา:นายมนตรี บุญจรัส  กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ