นิด้าโพล เผยผลสำรวจ “กรณี ส.ส. ถือครองหุ้นสื่อ”

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “กรณี ส.ส. ถือครองหุ้นสื่อ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,257 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับกรณี ส.ส. ถือครองหุ้นสื่อ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด  ค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

  จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการตรวจสอบ​ ส.ส.​ ทั้งสภา​ เกี่ยวกับการถือครองหุ้นสื่อ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.38 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เพื่อความเท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อความโปร่งใส ยุติธรรม และป้องกันการทุจริต ขณะที่ ร้อยละ 8.83 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่ก่อนเป็น ส.ส. และอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย และร้อยละ 9.79 ระบุ ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ       

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อแนวโน้มการพ้นจากตำแหน่งของ ส.ส. จำนวนมาก ของทั้ง 2 ฝ่าย จากกรณีการถือครองหุ้นสื่อ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.44 ระบุว่า ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย หากใครมีลักษณะต้องห้ามก็ควรพ้นจากตำแหน่ง รองลงมา ร้อยละ 16.87 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 9.47 ระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายควรเจรจาเพื่อยุติการฟ้องร้องซึ่งกันและกัน ร้อยละ 6.44 ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาร่วมกันยื่นเรื่องเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยด่วน ร้อยละ 3.18 ระบุว่า หากยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ให้ คสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหา และร้อยละ 6.60 ระบุ ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

  เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.91 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.62 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.38 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.65 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 56.01 เป็นเพศชาย และร้อยละ 43.99 เป็นเพศหญิง