นิด้าโพล เผย ปชช.26.86 % มองพรรคพปชร.มีความแตกแยก



ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “รู้สึกอย่างไรกับปัญหาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 – 5 กรกฎาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,262 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความรู้สึกกับปัญหาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในรอบสัปดาห์ ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.86 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐมีความแตกแยกอย่างเห็นได้ชัด รองลงมา ร้อยละ 20.13 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เข้าใจการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ต้องมีการแบ่งปันอำนาจ ร้อยละ 19.41 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แค่พยายามจะทำให้ได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ดีที่สุด ร้อยละ 18.54 ระบุว่า ความเห็นต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ร้อยละ 16.64 ระบุว่า กลุ่มสามมิตรเล่นการเมืองแบบเดิม ๆ ใช้จำนวน ส.ส. กดดันขอเก้าอี้รัฐมนตรี ร้อยละ 10.54 ระบุว่า  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ควรทำตามคำพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี ร้อยละ 7.05 ระบุว่า กลุ่มสามมิตรสมควรได้ตำแหน่งรัฐมนตรีตามที่ผู้ใหญ่ในพรรครับปากไว้ ร้อยละ 2.06 ระบุว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ร้อยละ 1.19 ระบุว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ร้อยละ 0.87 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เวลานานเกินไปในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการเมือง และร้อยละ 27.42 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเห็นของประชาชนต่อการดำเนินการทางการเมืองในอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.69 ระบุว่า ควรให้ความสำคัญกับการบริหารประเทศมากกว่าปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ รองลงมา ร้อยละ 28.53 ระบุว่า หากมีปัญหามากนัก ก็ลาออก เลิกเป็นนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 24.17 ระบุว่า หากมีปัญหามากนัก ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 22.50 ระบุว่า ควรแบ่งปันอำนาจให้เหมาะสมเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล ร้อยละ 12.84 ระบุว่า ควรใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด แม้ว่ารัฐบาลอาจจะอายุสั้นก็ตาม ร้อยละ 6.02 ระบุว่า ควรหาตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ ให้กับ ส.ส. ที่ผิดหวังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ร้อยละ 5.55 ระบุว่า ไม่ควรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเพื่อจะได้ลอยตัวจากปัญหา ร้อยละ 5.23 ระบุว่า ควรเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อแก้ไขปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 2.54 ระบุว่า ควรเตรียม งูเห่า จากพรรคฝ่ายค้านในกรณีวิกฤติ เพื่อให้มาสนับสนุนนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 9.75 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ