สุวิทย์ ตรวจเยี่ยมมอบนโยบายแก่ สวทช.

วันนี้ (15 สิงหาคม 2562) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ เข้าหารือ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และคณะผู้บริหาร กล่าวต้อนรับและนำเสนอชุดโครงการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม 113 อาคารสำนักงานกลาง (อาคาร 1) สวทช. อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

ดร.สุวิทย์ฯ กล่าวว่า โปรแกรมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ทั้ง 6 โปรแกรม ที่ สวทช. นำเสนอในวันนี้ล้วนสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ด้วยกลไก Technology Localization, การสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG: Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy), แพลตฟอร์มลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิต, การยกระดับพลเมืองเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation), การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม, และการสร้างขุมพลังแห่งปัญญา (National Brain Power) ต้องมีการตั้งวงบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยอื่น ๆ รวมถึงภาคเอกชน ให้มีการจัดทำนวัตกรรมที่จะได้จากแต่ละชุดโปรแกรม ให้มีการวางแผนธุรกิจ แผนการบริหารชุดโครงการให้ชัดเจน จะกลับมาประชุมกับ สวทช. อีกใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเข้มแข็งและสมบูรณ์ โดยเฉพาะต้องสร้าง BCG in Action ให้เป็นรูปธรรม 



ส่วนการขับเคลื่อนในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมจะขับเคลื่อนผ่าน 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1. แพลตฟอร์มการวิจัยเพื่อสร้างคนและองค์ความรู้ รวมหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการผนึกกำลังกันนำไปสู่การตอบโจทย์ประเทศ สร้างระบบนิเวศของการสร้างนักวิจัย คนมีความสามารถของไทยและของโลกมาทำงานร่วมกัน  2. แพลตฟอร์มการวิจัยเพื่อความสามารถในการแข่งขันของ 11 S-Curves การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และการยกขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ใช้ AI and Data Economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจแบ่งปัน ในการขับเคลื่อนประเทศ 3. แพลตฟอร์มการวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิต ขจัดความยากจน ส่งเสริมการวิจัยที่ตอบโจทย์สำคัญของชุมชนและทุกภาคส่วน และ 4. แพลตฟอร์มแก้ปัญหาโจทย์ความท้าทายขนาดใหญ่ของประเทศ (Grand Challenges) ด้วยการส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research), การเตรียมนวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (Aging Society), การแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างได้ผล, การทำขยะให้เหลือศูนย์ (Zero Waste) เป็นต้น