“ป่าประ”ผืนใหญ่ที่สุดในไทย



ผศ.ดร.สมรักษ์ รอดเจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา(รอง ผอ.สวพ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวถึงการพัฒนาโจทย์ในโครงการท้าทายไทย ซึ่งสนับสนุนโดย หน่วยจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) ว่า การทำงานในพื้นที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ครั้งนี้ เป็นการวิเคราะห์โจทย์ปัญหาและความต้องการของชาวบ้านและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ นำไปสู่งานวิจัยที่แก้ปัญหาชุมชนอย่างได้ตรงจุด โดยเฉพาะในแง่มุมของการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและฐานอาชีพที่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก นั่นหมายรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนกฏกติกาชุมชนให้เป็นข้อตกลงร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืนที่สุด  

 “โจทย์หลักที่ชาวบ้านอยากให้เราไปพัฒนามากที่สุดคือป่าประ ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติ แม้ว่าจะมีการตั้งกฎกติกาชุมชนขึ้นมาก่อนหน้านี้แต่รับรู้จำกัดแค่ในหมู่บ้าน ยังไม่มีมาตรการจัดการที่แท้จริง เพราะป่าประที่นี่มีการใช้ประโยชน์กันหลายหมู่บ้านไม่ใช่แค่เฉพาะหมู่ 8 เท่านั้น ชาวบ้านจึงอยากให้มหาวิทยาลัยเข้าไปออกแบบสร้างกฎกติกาให้เป็นรูปธรรม เช่น เส้นทางการเข้าออกป่าประ ใช้เวลาเท่าไร การเก็บของป่าเอาอะไรเข้าไปได้บ้าง หรือเอาอะไรออกมาได้บ้าง”

ทั้งนี้ อำเภอนบพิตำ เป็นอำเภอที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีน้อยที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จากการสำรวจพบว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขานัน ร้อยละ 37.8 ของพื้นที่หรือราว 5,000 ไร่  มีต้นประธรรมชาติ นับเป็นป่าประผืนใหญ่ และผืนสุดท้ายของประเทศ

โดยป่าประที่นี่ถือเป็นป่าที่เก่าแก่และชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่ามาเป็นเวลาช้านานก่อนจะมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเมล็ดประเป็น“ของป่า” ที่มีผลผลิตอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ของทุกปี ชาวบ้านในพื้นที่นิยมเก็บมาบริโภคและแปรรูปเพื่อเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน ซึ่งตรงกับกรอบวิจัยหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชในเรื่องการจัดการทรัพยากรและพัฒนานวัตกรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนนั่นเอง

จากงานวิจัยและการทำงานในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าว ก่อเกิดกิจกรรม “วันประแตก ประจำปี 2562” เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัยการจัดการทรัพยากรและพัฒนานวัตกรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช จากโครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่องนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ (ปีที่ 2) ภายใต้กรอบวิจัย ดังนี้ 1. การจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมและการสร้างคุณค่า มูลค่าป่าประ จำนวน 8 โครงการ 2.การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในอำเภอนบพิตำ จำนวน 3 โครงการ ซึ่งเป็นการนำเสนอทุนเดิมในการจัดการป่า และทิศทางการทำงานร่วมกัน ภายใต้เงื่อนไขการพัฒนาและกฎหมายอุทยานฯ ฉบับใหม่ เน้นคนอยู่กับป่าแบบไม่กระทบระบบนิเวศ เอาผิดคนบุกรุกป่าเพิ่มเติม รวมทั้งเปิดทางคนในชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่สามารถเก็บหาของป่าได้

รอง ผอ.สวพ.ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการสร้างบัญญัติกฎกติกาชุมชนการใช้ป่าประ คาดว่าในเร็วๆนี้จะได้ข้อสรุป ซึ่งล่าสุดมีการทำ Focus Group โดยมีการหารือกันทั้งปราชญ์ชาวบ้าน นายอำเภอ นายกอบต.กรุงชิง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะมีการเปิดเวทีอีกครั้งเพื่อนำไปสู่รูปแบบที่ยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรและการดูแลรักษาผืนป่าประในอนาคต

ขณะที่ นายจรัล ด้วงแป้น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขานัน ระบุว่า งานวิจัยเชิงพื้นที่ที่ มรภ.นครศรีธรรมราช กำลังดำเนินการมีความสำคัญมากโดยเฉพาะในเรื่องการดูแลรักษาป่า ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลทางวิชาการที่เป็นข้อเท็จจริง โดยข้อมูลดังกล่าวทางอุทยานสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการในอนาคต ขณะเดียวกันงานวิจัยดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของป่าประและหวงแหนอุทยานมากขึ้น

ด้าน นายประวัติ ชูวิรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านทับน้ำเต้า ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านยังคงใช้ประโยชน์จากป่าประเพราะที่นี่คือซูเปอร์มาเก็ตของหมู่บ้าน จากงานวิจัยชุดนี้ที่ มรภ.นครศรีธรรมราช ทำให้ชาวบ้านมีองค์ความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมถึงการมีกติกาหรือข้อตกลงชุมชนในการใช้ป่าประร่วมกันที่ชัดเจน ส่งผลให้การดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าประเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่เข้ามา นอกจากส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมวันประแตกที่จะจัดขึ้นทุกปีนับจากนี้ไป งานวิจัยดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้น “พิธีเปิดป่าประ” โดยชาวบ้านเชื่อว่าพิธีดังกล่าวเป็นการขออนุญาตผู้ปกปักรักษาผืนป่า ก่อนการเข้าไปหาของป่าได้ปลอดภัยแคล้วคลาดจากสัตว์ร้ายในป่า รวมถึง “พิธีบวชป่าประ” ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะอนุรักษ์และพลิกฟื้นผืนป่าประ โดยใช้ "พลังความศรัทธา"ภายใต้ความเชื่อตามหลักพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาป่า ถือเป็นกุศโลบายในการต่ออายุป่าประและต้นไม้อื่นๆ ภายในอุทยานอีกทาง เพราะเชื่อว่าหากนำจีวรมาห่มและทำพิธีบวชป่าแล้ว ชาวบ้านจะไม่กล้าตัดหรือทำลายต้นไม้ในอุทยาน สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการดูแลรักษาผืนป่าส่งต่อไปยังลูกหลานในอนาคต