“คุณหญิงกัลยา” ชูประเด็นบูรณาการ STEAM Education ในเวทีประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 52 ที่ฟิลิปปินส์

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยนายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศ สป. และคณะผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 52 (สภาซีเมค) ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรม EDSA Shangri-La กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เจรจาหารือความร่วมมือทวิภาคีร่วมกับ H.E. Mr. Chan Chun Sing (ชาน ชุง ซิง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ในฐานะประธานสภาซีเมค โดยมุ่งส่งเสริมประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่เน้นเรื่องของการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา การจัดฝึกอบรมให้กับครูและผู้บริหาร ในรูปแบบของการจัดหลักสูตรฝึกอบรมตามความต้องการของครูและผู้บริหาร

โดยในส่วนของประเทศไทย ดร.คุณหญิงกัลยา ต้องการผลักดันเรื่องของการสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ให้มีการเรียนการสอนหรือบูรณาการให้เข้ากับการเรียนรู้ในสถานศึกษามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ Arts of Life ที่จะต้องผนวกไว้ในการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษา (STEM) ให้เป็นสตีม (STEAM) ซึ่งรวมถึงความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทย

นอกจากนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงยุทธศาสตร์ระดับรัฐมนตรีศึกษาของซีมีโอ ครั้งที่ 6 (6th SEAMEO Strategic Dialogue of Education Ministers : SDEM) หัวข้อ Prioritising Foundational Learning and Lifelong Learning: Investing in Literacy, Numeracy, and STEM Education in the Digital Era โดย H.E. Ms. Sara Zimmerman Duterte-Carpio (ซาร่า ซิมเมอร์มัน ดูแตร์เต-คาร์ปิโอ) รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ เป็นประธานการประชุม โดย ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทุกสิ่งอย่างจะขับเคลื่อนการทำงานด้วยเครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแบบใหม่ การยกระดับความรู้และทักษะเพื่อให้ผู้เรียนได้สามารถทดลองและเรียนรู้ด้วยตนเองจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมถึงในโลกแห่งการแพทย์ นักเรียนแพทย์จะสามารถลงมือปฏิบัติได้อย่างเสมือนจริง การทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแบบใหม่ จะช่วยลดขั้นตอนในการบริหารจัดการ ลดชั่วโมงการสอนของครู และช่วยให้เจ้าหน้าที่และผู้บริหารได้ทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับจุดเน้นที่จะต้องพัฒนานักเรียน ครู และผู้บริหาร

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้วิธีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารงานในองค์กร และให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานที่เป็นระบบมากขึ้น การนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ ทดสอบ และพิสูจน์ การเสริมสร้างทักษะความร่วมมือเชิงนวัตกรรมการมีมารยาทที่ดี ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การออกแบบและยอมรับวิถีทางใหม่ การเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างรวดเร็วเพื่อให้บรรลุผลตามความจำเป็นและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

“ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เริ่มสอนเรื่อง “การเรียนโค้ดดิ้งโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์” (Unplugged Coding) ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงลำดับการดำเนินการ ความเชื่อมโยงของเหตุและผล การใช้เหตุผล เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่น และมีความรับผิดชอบ รวมทั้งได้ผนวกอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ คือ “ศิลปะแห่งชีวิต” (A : Arts of Life) ในการจัดสะเต็มศึกษา (STEM) ให้เป็น STEAM โดยเชื่อว่าเด็กต้องมีความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม คุณค่า และวิธีการร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว