ปี 65 รพ.วัดไร่ขิง ผ่าต้อกระจก สิทธิบัตรทองเกือบ2,000ดวงตา

โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง เผย ปี 65 ผ่าตัดต้อกระจก-ใส่เลนส์แก้วตาเทียม ให้คนสิทธิบัตรทองกว่า 1.7 พันดวงตา เตรียมเพิ่ม ‘ผ่าตัดนอกเวลา’ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น

นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เปิดเผยว่า ในปี 2565 โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง

ได้ให้บริการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมแก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จากทั่วประเทศที่ส่งต่อมารักษา คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1,710 ดวงตา จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดตาต้อกระจกทั้งหมด 5,673 ดวงตา

รวมถึงขณะนี้กำลังมีโครงการเตรียมขยายบริการไปสู่การผ่าตัดนอกเวลามากขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านจักษุให้กับประชาชน

โดยเรียกเก็บเพียงค่าบริการนอกเวลา ค่ารักษาอื่นๆ ใช้ตามสิทธิเช่นเดิม เพราะผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่มารับบริการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมถ้าไม่มีความซับซ้อนมาก หรืออาการที่น่าเป็นห่วง หลังผ่าตัดเสร็จก็สามารถกลับบ้านได้เลย หรือที่เรียกว่าผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS)

โดยปัจจุบันทางโรงพยาบาลสามารถผ่าตัดตาให้ผู้ป่วยได้ 40-50 รายต่อวัน ซึ่งหากยกระดับศักยภาพแล้วอนาคตอาจไปถึง 60-70 รายต่อวัน

นพ.อาคม กล่าวต่อไปว่า ภายใต้อัตราการเบิกจ่ายด้านการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดมานี้โรงพยาบาลก็สามารถที่จะบริการได้ไม่เป็นปัญหา รวมถึงตัวเลนส์ภายใต้งบประมาณจำนวนนี้ก็มีคุณภาพและมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก และแน่นอนว่าทางทีมแพทย์ของโรงพยาบาลก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน

“ผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่มารับบริการส่วนใหญ่จะถูกส่งต่อมาจากสถานพยาบาลในพื้นที่ เพราะเป็นกรณีที่เกินขีดความสามารถจะดูแลรักษาได้ แต่ผู้ป่วยบางส่วนก็เลือกที่จะมารับบริการที่นี่เลยแม้จะอยู่คนละจังหวัด ซึ่งทางโรงพยาบาลก็พร้อมให้บริการทุกกลุ่มโรคทางจักษุ ตั้งแต่เริ่มต้นตรวจคัดกรอง ดูแลรักษา ตลอดจนฟื้นฟู และสิทธิประโยชน์ของบัตรทองก็ครอบคลุมทั้งหมด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มใดๆ ทั้งสิ้น” นพ.อาคม ระบุ


   


ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวอีกว่า เรื่องดวงตา แม้จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่เหล่านี้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง

ทั้งอาการของโรค ความเป็นอยู่ของครอบครัว รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลายอย่างในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการช่วยเหลือในส่วนนี้จึงมีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโรคอื่นๆ




   
“เราต้องยอมรับว่าทุกคนพอถึงเวลาก็มีโอกาสเป็นโรคตาต้อกระจก เพราะเป็นเรื่องของความเสื่อมตามวัย อีกทั้งไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั่นหมายถึงจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ก็จะมีมากขึ้น และถ้าไม่ได้การรักษาที่ทันท่วงที ก็เสี่ยงที่จะตาบอดได้ ซึ่งการที่มีสิทธิประโยชน์ที่รองรับการรักษาเลยมีความสำคัญอย่างมาก” นพ.อาคม กล่าว

ทั้งนี้ จากประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อรับบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ มีรายละเอียดการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ที่เกี่ยวกับตาต้อกระจก ดังนี้

1.การผ่าตัดในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สำหรับการผ่าตัดผู้ป่วยระดับสายตามองไม่เห็น และภาวะสายตาเลือนรางรุนแรง (Blinding & Severe low vision) จ่ายอัตราข้างละ 7,000 บาท สำหรับผ่าตัดผู้ป่วยระดับสายตาอื่นๆ ข้างละ 5,000 บาท และสำหรับการผ่าตัดที่มีภาวะแทรกซ้อน จ่ายอัตราข้าละ 9,000 บาท

2.ค่าเลนส์แก้วตาเทียม กรณีเลนส์พับได้อัตราข้างละ 2,800 บา และเลนส์แข็งอัตราข้างละ 700 บาท เฉพาะเลนส์แก้วตาเทียมตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยรายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียม และข้อบ่งชี้ในการบำบัดรักษาโรค