ขยะอาหาร ทำโลกร้อน


 

เชื่อว่าหลายคนรู้ว่าตัวการที่ทำให้ขยะเกิดกลิ่นเน่าเหม็นมาจาก “ขยะอินทรีย์” หรือบางคนเรียกว่า  “ขยะเปียก”

ให้เข้าใจง่ายๆ เห็นภาพชัด ๆ มันก็คือ “ขยะเศษอาหาร”

มารู้จักกับที่มาของ “กลิ่นเหม็นของกองขยะ” ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรและทำอย่างไรให้กลิ่นเหม็นที่ว่าหายวับไป

ในกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์จะมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “แบคทีเรีย” ทำหน้าที่เปลี่ยนรูปจากสารอินทรีย์ (เศษอาหารต่างๆ กิ่งไม้ ใบไม้ ฯลฯ) ให้ไปเป็นสารอนินทรีย์

เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อพืช แต่กระบวนการที่กล่าวมานี้น้องแบคทีเรียน้อยต้องใช้ออกซิเจนเป็นตัวให้พลังงาน

แต่ภาพที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงมันคือกองขยะที่ทับถมกันอยู่เป็นภูเขา อากาศไม่ถ่ายเท ปริมาณออกซิเจนคงน้อยนิดจนแทบไม่มีเหลือ นั่นจะทำให้มีแบคทีเรียอีกกลุ่มหนึ่ง ที่สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ให้เป็นสารอนินทรีย์ได้โดยไม่ใช้ออกซิเจน แต่ผลที่ได้จะได้ออกมาเป็น “ไฮโดรเจนซัลไฟด์” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แก๊สไข่เน่า”

และไม่จบเพียงเท่านี้... ปฏิกิริยาระหว่างแบคทีเรียและสารอินทรีย์ยังคงดำเนินต่อเรื่อย ๆ จนกว่าตัวให้พลังงานจะหมด ซึ่งในปฏิกิริยาสุดท้ายจะเกิดผลผลิตเป็น "แก๊สมีเทน" แก๊สที่เป็นหนึ่งในแก๊สเรือนกระจกที่มีความรุนแรงกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 28 เท่า! (Sarah Kaplan, 2020)

นอกจากนี้แก๊สมีเทนยังเป็นอีกหนึ่งต้นตอของปัญหา “ไฟไหม้บ่อขยะ” เพราะว่าที่บริเวณก้นบ่อจะมีแก๊สมีเทนสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก มันจะแพร่ไปตามช่องว่างที่อากาศสามารถไหลไปได้

แสดงว่าจะมีแก๊สมีเทนกระจายออกไปเป็นวงกว้าง แม้จะไม่ใช่จุดที่มีเศษอาหาร และด้วยความที่บ่อขยะบ้านเราขาดการแยกอย่างที่ควรจะเป็น จึงเป็นแหล่งรวมขยะหลากหลายชนิด ทั้งขยะอันตราย ขยะไวไฟ ถ้าหากมีขยะเพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่งทำปฏิกิริยากันแล้วเกิดประกายไฟขึ้นมา แก๊สมีเทนจะเป็นตัวช่วยให้เกิดการลุกไหม้ได้ง่ายขึ้นทันที

อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อเกิดไฟไหม้ กลุ่มควันสีดำที่เราเห็นก็เป็นแหล่งรวมแก๊สเรือนกระจกและไอระเหยของสารเคมีต่าง ๆ นอกจากจะเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ด้วย

ดังนั้นสิ่งที่แต่ละคนช่วยกันทำได้คือการแยกขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ขยะเศษอาหาร”  ไม่ทิ้งลงไปปะปนกับขยะอื่น ๆ จะช่วยลดที่มาของกลิ่นเหม็นและไม่ไปเพิ่มปริมาณแก๊สมีมีเทนในบ่อขยะที่มีในปัจจุบัน

ข้อมูล , ภาพ : CHULA Zero Waste