สิทธิประชาชน ในการตรวจสอบพฤติกรรมคอร์รัปชันของนักการเมือง

 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิสนับสนุนป้องกันและปราบปรามทุจริตจัดเสวนาวิชาการที่รัฐสภา เรื่อง “สิทธิทางการเมืองของประชาชน : ตรวจสอบนักการเมืองน้ำดี และนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน”

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้นำเสนอเนื้อหาในงานเสวนาวิชาการตามบทความนี้

1)ดิฉันได้ยกกรณีทุจริตยาในกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปีพ.ศ.2541 เป็นกรณีศึกษา กล่าวคือ ดิฉันและเครือข่ายองค์กรสาธารณประโยชน์ 30 องค์กร มีส่วนในการตรวจสอบเรื่องทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข 1,400 ล้านบาท
และแจ้งเบาะแสต่อ ป.ป.ช

ทำให้มีการตรวจสอบอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขพบความร่ำรวยผิดปกติ และการรับสินบนจากบริษัทยาจึงมีการสั่งฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินลงโทษจำคุกรัฐมนตรี 15 ปี และยึดทรัพย์จำนวน 233.8 ล้านบาท ในปี 2546

2)หลังจากอดีตรัฐมนตรีผู้นั้นถูกจำคุก5 ปี และได้รับการพักโทษ ได้บวชเป็นพระภิกษุ และออกรายการทีวีร่วมกัน ท่านเล่าให้ฟังว่าในสมัยของตนกลุ่มทุนจะสนับสนุนเงินให้นักการเมืองใช้ในการเลือกตั้ง เมื่อชนะเลือกตั้ง และได้ร่วมรัฐบาล กลุ่มทุนจะส่งคนของตนมานั่งกระทรวง และกำหนดนโยบายเพื่อตอบแทนทุนที่สนับสนุนการเลือกตั้ง ท่านกล่าวว่า สมัยนั้นเงิน 2 หมื่นล้านก็ซื้อประเทศไทยได้แล้ว

3)โมเดลที่กลุ่มทุนสนับสนุนนักการเมืองทำธุรกิจการเมืองยังเป็นเช่นเดิม ดังปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ที่มักได้ยินกันว่ามีการ แจกกล้วยกี่หวี กี่เครือให้นักการเมืองในสภาแลกการโหวตต่างๆ และการจ่ายเงิน ซื้อตัวนักการเมืองที่มีโอกาสชนะเลือกตั้ง คนละ 30-50 ล้านบาท ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

4)การสมคบจับมือกันระหว่างกลุ่มทุนกับนักการเมือง(ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการรัฐประหาร) คือวงจรการทุจริตที่ใหญ่ที่สุดในทางการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา

ยกตัวอย่าง กรณีที่ดิฉันและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อเพิกถอนการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสามารถหยุดยั้งการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี2548 และยุติการแปรรูปได้สำเร็จเมื่อต้นปี2549  

แต่กระบวนการผ่องถ่ายกิจการรัฐวิสาหกิจที่เป็นกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานไปเป็นของเอกชนยังไม่หยุด เพราะกิจการที่ประชาชนต้องใช้อย่างไฟฟ้า เอกชนต้องการได้ไว้เอง เพราะการได้เป็นผู้ผลิตไฟขายประชาชนเป็นหลัก ก็จะมีความมั่นคง มั่งคั่งไม่รู้จบ

เรื่องกฟผ.เมื่อนักการเมืองยุคแรกแปรรูปไม่สำเร็จจึงใช้นโยบายล้วงไส้ด้วยการทำสัญญาซื้อไฟจากเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ ซื้อในราคาแพงกว่าที่กฟผ.ผลิตเอง ซื้อระยะยาว 25ปี และให้ประกันกำไรแก่เอกชนเป็นค่าความพร้อมจ่าย ประมาณ25% ไม่ว่าเอกชนจะผลิตไฟหรือไม่ กฟผ.ก็ต้องจ่ายเงินให้ และค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถูกนำมาไว้ในค่าเอฟทีที่เก็บจากประชาชนผ่านค่าไฟที่แพงขึ้นเรื่อยๆ

จนปัจจุบัน กฟผ.ผลิตไฟลดลงเหลือประมาณ 30% ส่วนปริมาณไฟฟ้าจำนวนมากอีกราว 70 % นักการเมืองได้ทำสัญญาซื้อจากเอกชนที่ผลิตไฟขายรัฐและซื้อจากลาว และทำสัญญาซื้อมากจนเหลือใช้ และมีไฟสำรองล้นเกิน ตามมาตรฐานสากล

การสำรองไฟเพื่อความมั่นคงเพียง10-15% ก็เพียงพอแล้วแต่ปัจจุบันไทยกลับมีไฟสำรองสูงถึงกว่า 50% เมื่อผนวกกับการบริหารเรื่องราคาก๊าซสำหรับผลิตไฟฟ้าโดยนักการเมือง ก็มีการบริหารที่เอื้อเอกชนจนเชื้อเพลิงแพงและทำให้ค่าไฟแพงขึ้นอันดับ2 ในปี2565 รองจากกัมพูชา ในปี2566 ไทยอาจจะขึ้นแท่นค่าไฟแพงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน

การที่กฟผ.ผลิตไฟต่ำลงไปเรื่อยๆ จึงมีผู้ไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเคยวินิจฉัยว่า การที่กฟผ.ผลิตต่ำกว่า 51% ขัดรัฐธรรมนูญ และส่งข้อแนะนำให้รัฐบาลเมื่อปี2562 ให้แก้ไขให้ กฟผ.กลับมาผลิตไม่น้อยกว่า 51% ภายใน10ปีนับตั้งแต่ปี2562  

แต่คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีผลผูกพันให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม ผู้ร้องจึงทำเรื่องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัยว่าการที่กฟผ.ผลิตไฟน้อยกว่า 51% ขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 56 วรรค 2 หรือไม่ ซึ่งคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันทุกองค์กรให้ต้องปฏิบัติตาม

5)การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องมองเห็นภาพใหญ่ว่าการทุจริตเป็นวงจรการแสวงหาประโยชน์จากประชาชน โดยอาศัยอำนาจทางการเมืองเอื้อประโยชน์ให้กล่มทุนมีอำนาจผูกขาดหรือสามารถล้วงกระเป๋าจากประชาชนได้  

ดังนั้นการตรวจสอบถ่วงดุลของประชาชนต้องตรวจสอบถ่วงดุลทั้ง 3 อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้น

รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า
“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”

ขอย้ำว่า ศาลต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม เพราะศาลทุกศาลมิได้อยู่เหนือ”หลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”

มีคำถามสำคัญว่า ถ้าศาลตัดสินคดีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หรือหลักนิติธรรม หรือขัดต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติแล้ว ย่อมเป็นการตัดสินคดีที่ไม่ชอบ ใช่หรือไม่???  

และประชาชนย่อมอาศัยเสรีภาพตามมาตรา 34 วรรค2 แห่งรัฐธรรมนูญแสดงความคิดเห็นได้ตามบทบัญญัติที่ว่า

 “เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง”


รธน.2560 มาตรา 56 บัญญัติว่า “รัฐต้องจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต ของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อ การดํารงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีที่กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ทำให้สัดส่วนกําลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ ‘ไม่ขัด’ หรือ ‘แย้ง’ ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง

ด้วยความเคารพต่อศาล ดิฉันขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลทางวิชาการว่า

“โครงสร้างกิจการไฟฟ้าประกอบด้วยระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้าและระบบจำหน่ายไฟฟ้า โครงสร้างกิจการไฟฟ้านี้ถือเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเอกชนมีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้า ส่งไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าเกินกว่าร้อยละ 51 จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

แม้เอกชนจะต้องจำหน่ายไฟฟ้าผ่านกฟผ. จะจำหน่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรงไม่ได้ ก็ไม่เป็นเหตุทำให้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการจำหน่ายให้กฟผ.ก็ยังได้ชื่อว่าเอกชนเป็นผู้จำหน่ายอยู่นั่นเอง เมื่อมีสัดส่วนเกินร้อยละ 51 เช่นเดียวกับการผลิตและการส่ง จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ”

กฟผ.จะถูกลดการผลิตลงไปเรื่อยๆ เมื่อไม่มีข้อกำหนดบังคับว่ากฟผ.ต้องได้ผลิตไฟขายประชาชนขั้นต่ำเท่าไหร่ ส่วนประชาชนต้องเเบกรับค่าไฟแพงขึ้นไปเรื่อยๆ

นี่คือการถ่ายโอนกิจการผลิตไฟฟ้าจากกิจการของรัฐวิสาหกิจที่เป็นการผลิตโดยไม่มุ่งกำไรสูงสุดของกฟผ. ไปเป็นการผลิตไฟโดยเอกชนเพื่อค้ากำไรเต็มที่ ย่อมไม่ต่างจากเอกชนได้หลบซ่อนตัวอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของกฟผ. ใช่หรือไม่

6)นักการเมือง มีอำนาจครอบคลุมทุกมิติในการสั่งการบริหารเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ถ้าอำนาจนั้นเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน ในการเอาเปรียบ ขูดรีดประชาชน อำนาจการสั่งการจึงเป็นอำนาจทุจริต เช่น
-การเลือกข้าราชการ และตำแหน่งต่างๆที่ใช้อำนาจ นักการเมืองจะเลือกคนที่ยอมรับใช้นักการเมือง หากไม่ยอมรับใช้ ก็ไม่ถูกเลือก ทำไม่ถูกใจ ก็ถูกสั่งย้ายได้

-กำหนดนโยบาย ซื้อไฟเอกชน ในราคาแพงกว่าที่ กฟผ.ผลิตได้เอง
-กำหนดทำสัญญาซื้อไฟเอกชนเท่าไหร่ก็ได้ตามแผน PDP ที่ออกแบบโดยนักการเมืองและข้าราชการ หากถูกกำหนดได้โดยกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาลใดๆ นโยบายดังกล่าวย่อมเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน มากกว่าต่อประชาชน ใช่หรือไม่

การบริหารบ้านเมืองโดยการสมคบกันระหว่างกลุ่มทุน และนักการเมืองคือวงจรการทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากประชาชน ใช่หรือไม่

7)นักการเมืองกำลังเดินหน้ากินรวบกิจการไฟฟ้าทั้งระบบโดยไม่ต้องแปรรูป ใช่หรือไม่

ขั้นตอนต่อไปคือการดึงเอา “ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ ( National Control Center : NCC )
ที่เคยอยู่กับกฟผ. มาไว้ที่กระทรวงพลังงาน ที่นักการเมืองและกลุ่มทุนสามารถบริหารจัดการได้ง่ายๆอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การแยกศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติออกไปจาก กฟผ. จึงเท่ากับเป็นการออกแบบเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ได้กินรวบการผลิต และควบคุมการจำหน่ายไฟฟ้าจากการผลิตของกลุ่มทุนในลำดับต่อไป ใช่หรือไม่

เพราะโดยภาระหน้าที่หลักศูนย์ฯ มีหน้าที่วางแผน/บริหาร/สั่งการผลิตไฟฟ้า ตามกฎเหล็กที่มีอยู่เพื่อผลประโยชน์ของชาติ คือผลิต ไฟฟ้า ตามหลัก Merit Order ซึ่งโดยสรุปคือศูนย์ฯจะควบคุมต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เมื่อมีความต้องการไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจะเริ่มจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุดเป็นลำดับแรก และหากความต้องการไฟฟ้าลดลง จะลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตสูงก่อนแล้วจึงดำเนินการลดการเดินเครื่องไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุดเป็นลำดับสุดท้าย

แต่เมื่อย้ายศูนย์ฯไปอยู่ในอำนาจสั่งการของกระทรวงพลังงานที่มีกลุ่มทุน และนักการเมืองควบคุมอยู่ การสั่งจ่ายไฟฟ้า จะนำไปสู่การสั่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลต่อนักการเมืองอย่างเต็มที่ จนเต็มพิกัดใช่หรือไม่ เพราะกลุ่มทุนใหญ่ ไม่ได้ต้องการค่าความพร้อมจ่าย 25% แต่ต้องการผลิตไฟขายเข้าระบบเต็มกำลังของโรงไฟฟ้า ซึ่งขายราคาแพงกว่าที่กฟผ.ผลิตเอง ย่อมทำกำไรให้กลุ่มทุนเป็นกอบเป็นกำ

ในขณะที่กฟผ.จะถูกลดการผลิตลงไปเรื่อยๆ จนอาจไม่ต้องผลิต ให้ซื้อจากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นหลัก เท่ากับว่ารัฐวิสาหกิจไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตไฟเพื่อการสาธารณูปโภคอีกต่อไป เป็นเพียงซากที่เอาไว้คลุมกลุ่มทุนเอกชนเท่านั้น ส่วนประชาชนต้องเเบกรับค่าไฟแพงขึ้นไปเรื่อยๆ

ข้อสรุปสำคัญ:การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลจึงต้องมีเครื่องมือสำหรับประชาชนในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี และ ศาลด้วย

รสนา โตสิตระกูล
31 มีนาคม 2566