ศาลมีคำสั่งเพิกถอนชั่วคราว ‘ชูวิทย์’ วิจารณ์นโยบายกัญชาได้

 

สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 พรรคภูมิใจไทยเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายชูวิทย์     กมลวิศิษฎ์ จำเลย ต่อศาลแพ่งเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย ในคดีหมายเลขดำที่ พ. 1650/2566 และโจทก์ได้ยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณาเป็นกรณีฉุกเฉิน ห้ามมิให้จำเลยกล่าวหรือไขข่าวเกี่ยวกับกัญชาในทำนองหรือในลักษณะที่ว่ากล่าวให้ร้าย อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์  


ศาลมีคำสั่งว่า ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ เพียงแต่ขอให้มีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยกล่าวหรือไขข่าวในทำนองหรือในลักษณะที่ถูกฟ้องไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เป็นคำขอที่มีลักษณะห้ามมิให้จำเลยกล่าวหรือไขข่าวถึงเรื่องดังกล่าว อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและสื่อความหมายโดยวิธีอื่น อันลักษณะเป็นการทั่วไป ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 มิใช่เป็นการห้ามเจาะจงเฉพาะการกระทำที่โจทก์ฟ้องร้อง กรณีจึงยังไม่มีเหตุฉุกเฉิน ให้ยกคำร้อง


จากนั้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณา ห้ามมิให้จำเลยกล่าวให้ร้ายต่อโจทก์ในเรื่องเกี่ยวกับกัญชาซึ่งอันจะเกิดความเสียหายต่อโจทก์ในขณะที่ส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัครรับเลือกตั้ง ศาลไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยห้ามมิให้จำเลยกล่าวหรือแสดงการกระทำด้วยวิธีใดๆ เฉพาะเรื่องกัญชาที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ในระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2)      




ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณา ศาลไต่สวนและพิจารณาคำร้องของจำเลยแล้ว จึงมีคำสั่งดังนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ทางไต่สวนของจำเลยได้ความว่า จำเลยได้กล่าวหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องของกัญชาเป็นการทั่วไป โดยกล่าวถึงประโยชน์และโทษของกัญชารวมอยู่ด้วย ซึ่งการกล่าวของจำเลยได้กล่าวตามความเห็นสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

คำเสนอของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องกัญชา ข้อเสนอคณะแพทย์เกี่ยวกับนโยบายกัญชาของประเทศไทย และข้อห่วงใยของเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภคเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 จำเลยไม่ได้กล่าวหรือแสดงความคิดเห็นถึงโจทก์เป็นการเฉพาะแต่เพียงอย่างเดียว การกล่าวหรือแสดงความคิดเห็นของจำเลยในเรื่องของกัญชา ทำให้ประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์และโทษของกัญชา จึงถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สุขภาพของประชาชนเป็นส่วนมาก กรณีจึงมีเหตุยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณา ลงวันที่ 5 เมษายน 2566


อนึ่ง ในวันเดียวกันโจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราว  เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนการคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณา จึงไม่มีเหตุที่จะบังคับตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อไป

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ