ผู้ว่า กทม.สัญจร กำชับช่วยเหลือและคิดถึงประโยชน์ประชาชน



 

(25พ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมติดตามงานในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร (โรงรับจำนำ กทม.) และสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร อาคารโกลด์ มาร์เก็ต เขตจตุจักร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า  วันนี้มาติดตามงานของ 2 หน่วยงานด้านการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร คือ สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร (โรงรับจำนำ กทม.) และสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร  สำหรับโรงรับจำนำ กทม.

เป็นหน่วยงานที่มีส่วนในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องรายได้และต้องการเอาของมาจำนำก่อนเพื่อนำเงินไปหมุนเวียนในครอบครัว

ปัจจุบันมีโรงรับจำนำ กทม. 21 สาขา (ใน 20 เขต) มีประชาชนที่มาใช้บริการอยู่ประมาณ 700,000 คนต่อปี ซึ่งเฉพาะปี 2566 (1 ต.ค. 65 - 30 เม.ย. 66) เพียง 7 เดือน มีประชาชนที่มาใช้บริการประมาณ 400,000 คน ยอดจำนำประมาณปีละ 6,000 ล้านบาท

ผลประกอบการพอไปได้ จึงได้ให้นโยบายหลัก ๆ 2 เรื่อง คือ 1. ต้องขยายการเข้าถึงของประชาชนให้ง่ายขึ้น ขยายจำนวนสาขาสถานธนานุบาลให้มากขึ้นและใกล้ชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ดี มีความสะดวกในการเดินทางโดยไม่ต้องเดินทางไกล เป็นการลดค่าเดินทางในการนำของมาจำนำ อีกทั้งยังสะดวกในการมาไถ่ถอน  

2.ไม่ให้คำนึงถึงแต่เรื่องของกำไรโดยกำหนดดอกเบี้ยแพง เพราะหัวใจของสถานธนานุบาลคือการช่วยเหลือประชาชนที่มีความยากลำบาก ฉะนั้น ให้พยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง  

ขณะเดียวกันได้สั่งการให้บริหารเงินสะสมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดดอกผลและจะได้เป็นผลประโยชน์กลับคืนมาสู่ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร

ส่วนสำนักงานตลาด ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีตลาดอยู่ 12 แห่ง ตลาดหลักคือตลาดจตุจักรซึ่งเป็นตลาดที่เช่าจากการรถไฟ นอกจากนี้ยังมีตลาดมีนบุรี ตลาดสนามหลวง 2 ที่เหลืออีก 9 แห่งเป็นตลาดชุมชน ที่เน้นย้ำเป็นนโยบายคือเรื่องสุขลักษณะ ซึ่งตลาดบางแห่งยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย หรือดูเรื่องความสะอาด ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน

พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำเรื่องการจัดระเบียบไม่ให้รกรุงรัง มีความปลอดภัย พื้นไม่ลื่น ส่วนตลาดที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไปคือตลาดนัดจตุจักร ขณะนี้มีเรื่องภาระหนี้เพราะตั้งแต่รับมาดำเนินการยังไม่ได้มีการจ่ายค่าเช่าพื้นที่เพราะยังไม่มีการทำสัญญา ก็จะเร่งรัดดำเนินการให้ถูกต้อง

ส่วนตลาดบางแคภิรมย์ที่เป็นการเช่าพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ทำตลาดเพื่อย้ายพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดบางแคมาอยู่ที่นี่ปัจจุบันยังมีผู้มาใช้บริการน้อยเนื่องจากการเดินทางไม่สะดวก ซึ่งกรุงเทพมหานครยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ก็จะต้องรีบดำเนินการ ภาพรวมต้องเอาตลาดของกรุงเทพมหานครเป็นตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ประชาชน และตัวตลาดเองต้องบริหารเชิงรุกเน้นคุณภาพตลาดและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนสูงสุด

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการจอดรถในตลาดนัดจตุจักร ว่า ถ้าไปตลาดนัดจตุจักรปัจจุบันจะพบว่ามีถนนหลักอยู่ ซึ่งช่วงเช้าสามารถจอดได้ แต่ในช่วงบ่ายไม่อนุญาตให้จอด เพื่อจะช่วยให้คนสามารถเดินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาแล้วมีข้อสรุปว่า ช่วงเช้าเวลา 06.00-12.00 น. และหลัง 18.00 น. สามารถนำรถเข้ามาจอดได้ แต่ช่วงเวลา 12.00-18.00 น. ไม่สามารถนำรถเข้ามาจอดได้ นี่คือการตัดสินใจของคณะกรรมการตลาดซึ่งได้มีการทำแบบสอบถามประชาชนพบว่าประชาชนอยากได้ทางเดินที่กว้าง

ขณะเดียวกันก็ได้ให้นโยบายว่า ต้องดูแลผู้ค้าด้านในด้วย โดยมีทางเดินจากด้านนอกเข้าด้านในได้สะดวก ทุกคนเดินทุกที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงหากเป็นไปได้ให้ขยายถนนด้วยเพื่อให้สามารถเดินเข้าไปด้านในได้มากขึ้น คงจะนำเข้าไปอยู่ในแผนดำเนินการต่อไป

ขณะที่นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการที่จอดรถในตลาดนัดจตุจักร ว่า หากพิจารณาสถานที่จอดรถรอบบริเวณตลาดจตุจักรพบว่า สามารถจอดรถได้ประมาณ 5,000 คัน

แนวทางแรก สำนักงานตลาดได้ประสานงานให้ผู้ค้าจอดรถในอาคารต่าง ๆ ในราคาที่ตกลงกันไว้ เพื่อให้ผู้ค้ามีที่จอดรถที่กระจายกันออกไป

แนวทางที่สอง พยายามเปิดทางเข้า-ออกจากแนวรถไฟฟ้าให้เดินเข้ามาภายในตลาดได้ง่ายขึ้น  แนวทางที่สาม ที่ผ่านมาเคยมีผู้ค้าวางของขายขวางทางเข้าไปร้านค้าด้าน ปัจจุบันได้มีการเปิดทางเข้าให้โล่ง รวมถึงบริเวณหอนาฬิกาก็ได้เปิดทางโล่งไว้เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ทั้งนี้แผนระยะยาวหากสามารถพูดคุยตกลงกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ จะเปิดประตูทางเข้าบริเวณถนนกำแพงเพชรให้ตรงจุดนั้นเป็นที่จอดรถทัวร์ จุดจอดรถแท๊กซี่ไว้เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสาร ส่วนบริเวณรอบนอกจะดำเนินการจัดระเบียบใหม่