ผุดแคมเปญ ‘เอ๊ะ...เช็คก่อนโดน สู้โจรออนไลน์’

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  หารือการผลิตสื่อและเผยแพร่ เพื่อเฝ้าระวังอาชญากรรมออนไลน์เชิงรุกแก่ประชาชน

(30 พฤษภาคม 2566) พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ , พล.ต.ต.ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ,พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และคณะ ร่วมหารือกับ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เพื่อหาแนวทางการผลิตสื่อและเผยแพร่ เพื่อเฝ้าระวังอาชญากรรมออนไลน์เชิงรุกแก่ประชาชน ภายใต้แคมเปญ “เอ๊ะ...เช็คก่อนโดน สู้โจรออนไลน์”

โดยมีเป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันภัยในโลกออนไลน์ให้แก่ประชาชน
และอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ และสร้างผลกระทบเชิงบวกทำให้สังคมดียิ่งขึ้น

แคมเปญ ‘เอ๊ะ...เช็คก่อนโดน สู้โจรออนไลน์’ สร้างเนื้อหาใหม่ที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เนื้อหากระชับเข้าใจง่าย และเข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มวัย โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางโทรทัศน์ ออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ เชื่อมโยงกับภาครัฐ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์”

 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส  กล่าวว่า  ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมมือกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม

เพราะกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  มีจุดประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ที่ดีให้กับสังคม และผลักดันให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ สร้างการรับรู้ และเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์

‘บัจจุบันมีผู้เดือดร้อนจากการใช้สื่อในทางที่ผิดเป็นอย่างมาก เราจะต้องตั้งรับและเตรียมพร้อมรับมือ เป็นวัคซีนที่ดีให้กับประชาชน และร่วมสร้างสิ่งดีๆไปด้วยกัน’

ด้าน พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง กล่าวว่า รอบปีที่ผ่านมา มีสถิติอาชญากรรมออนไลน์เป็นจำนวนมากกว่า 200,000 ราย มูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท

โดยเกิดจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งการพนันออนไลน์ หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center Gang)  

‘ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เรายิ่งต้องตระหนักถึงต้นตอของปัญหา และหาวิธีการแก้ไขให้โดยด่วนที่สุด’

ทั้งนี้การร่วมมือกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นสัญญาณที่ดี
ที่จะเข้าถึงสื่อสาธารณะ และโลกออนไลน์ เพราะจะร่วมสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และหาแนวทางในการร่วมมือสร้างสรรค์สื่อการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยให้แก่ประชาชนอีกด้วย