ใช้ “หัว และ ใจ” แก้ไขโรงงานถูกร้องเรียน ย้ำไม่รายงาน iSingle Form เจอตรวจสุดซอยแน่



 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การส่งเสริมการประกอบการตามนโยบาย MIND เพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3

โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว ณ โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตที่ทรงตัวมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

หากต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมโตขึ้น จำเป็นต้องนำนโยบาย MIND ใช้ “หัว และ ใจ” เข้ามาใช้เป็นแนวทางในการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม

พร้อมนำนโยบาย 4 มิติ ทั้งในด้านความสำเร็จของธุรกิจ การดูแลสังคมและชุมชนโดยรอบ การรักษาสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ประชาชน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างสมดุล โดยเฉพาะในมิติด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศไทยยังถูกจัดอันดับท้าย ๆ ของโลก

หากมีการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดจากประชาคมโลกอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศดีขึ้น และส่งผลต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้

‘การแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนนั้น เกี่ยวข้องกับชุมชน โรงงาน และสิ่งแวดล้อม การแก้ไขข้อร้องเรียนต่าง ๆ โรงงานอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ต้องร่วมกันดูแลชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานให้ได้รับการปฏิบัติที่ดี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ’

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้เน้นย้ำให้โรงงานอุตสาหกรรมรายงานข้อมูลการประกอบการรายเดือนในระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวง​อุตสาหกรรม​ (iSingle Form)

โดยมีเป้าหมายให้ทุกโรงงานเข้ามาอยู่ในระบบ Digital Goverment เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ รวมถึงก่อให้เกิดความสะดวกในการขอใบอนุญาตต่าง ๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีโรงงานที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในเดือนสิงหาคม 66 นี้ จะครบกำหนดการรายงานข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรมแล้ว หากยังไม่มีการรายงานจะถือว่าเป็นความผิดและมีโทษปรับ

ดังนั้น จึงมอบหมายให้ สอจ.ทุกจังหวัด ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจโรงงานแบบสุดซอยในทุกมิติของการรายงานตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยหากพบโรงงานที่ผิดกฎหมายขอให้ดำเนินการตามระเบียบอย่างจริงจัง รวมทั้งหากพบโรงงานที่มีการหยุดการดำเนินการมาเป็นเวลานาน ขอให้พิจารณาทบทวนการยกเลิกใบอนุญาตประกอบโรงงาน เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลโรงงานมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันต่อไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ