ปล่อย ตร.ประทวน รันทดแร้นแค้น

 

“พนิดา” อภิปรายงบ ตร. สุดอนาถตั้งงบซื้ออาวุธสงครามตั้งแต่ปี 64 สุดท้ายเบิกจ่ายไม่ทัน ต้องมาของบใหม่เพื่อจ่ายหนี้ปีนี้

อัดตั้งงบซื้ออาวุธมหาศาล แต่ปล่อยให้ตำรวจผู้น้อยรันทดแร้นแค้น ต้องควักเงินโปะค่าอุปกรณ์สำนักงาน-น้ำมัน-สาธารณูปโภคเอง

(22 มีนาคม 2567 )ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วาระ 2

พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ เขต 1 พรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยผู้สงวนความเห็น ต่องบประมาณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

พนิดา ระบุว่า ต้องขอบคุณคณะอนุกรรมาธิการความมั่นคง ที่สามารถตัดลดงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปได้กว่า 466 ล้านบาท ถือเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของการประหยัดงบประมาณในปีนี้

โดยงบประมาณ 466 ล้านบาทมาจากสองโครงการ คือ 1) งบประมาณจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับตรวจการณ์ระยะไกล (ยูเอวี) พร้อมอุปกรณ์และระบบควบคุม 4 ลำ มูลค่า 159 ล้านบาท คณะอนุกรรมาธิการตัดทั้งโครงการ

และ 2) งบประมาณก่อสร้างอาคารที่ทำการและอาคารที่พักอาศัยสำหรับตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่เข้ามาปฏิบัติการในกรุงเทพฯ มูลค่า 668 ล้านบาท คณะอนุกรรมาธิการสามารถตัดลดไปได้ 307 ล้านบาท

ทั้งสองรายการนี้เป็นโครงการที่ตนได้ตั้งคำถามไว้ถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นเมื่อครั้งการอภิปรายงบประมาณวาระแรก โดยหน่วยงานเป็นผู้เสนอตัดเองเมื่อทางคณะอนุกรรมาธิการขอให้พิจารณารีดไขมันที่เป็นส่วนเกินออก

หากแต่ยังมีงบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่ตนมองว่าไม่มีความจำเป็น ฟุ่มเฟือย และไม่ควรนำมาเบียดบังงบประมาณในส่วนอื่นที่จำเป็นกว่าและขาดแคลนอยู่

นั่นคืองบจัดซื้อครุภัณฑ์อาวุธหนัก ไม่ว่าจะเป็นปืนซุ่มยิงระยะไกล (สไนเปอร์) 10 ชุด 15 ล้านบาท, ปืนกล 20 ชุด 72 ล้านบาท, ปืนกลมือ 9 มม. 4,000 กระบอกพร้อมอุปกรณ์ 104 ล้านบาท, ปืนเล็กสั้น 5.56 มม. (M4) 3 โครงการ 2,000 กระบอก 274 ล้านบาท, รถปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยในการชุมนุม (จีโน่) 5 คัน 87 ล้านบาท และค่าซ่อมรถจีโน่ 5 คัน 47 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นงบประมาณเกือบ 600 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ถูกปรับลดในชั้นกรรมาธิการ

ทาง ตร.ชี้แจงว่า โครงการทั้งหมดนี้เป็นการตั้งงบประมาณเพื่อมาชดเชยงบประมาณปี 2564 ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว แต่ ตร.ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในปีนั้น ไม่ได้รับของในปีนั้น ทำให้ต้องมาขอรับงบประมาณในปีนี้เพื่อจ่ายเงินค่าอาวุธที่เพิ่งได้รับมา

พนิดา อภิปรายต่อไปว่า งบประมาณส่วนนี้เคยถูกตั้งคำถามมาก่อนแล้วในการอภิปรายงบประมาณปี 2564 โดย สส.พรรคก้าวไกลตั้งคำถามว่าการตั้งงบประมาณซื้ออาวุธหนักพร้อมกันรวดเดียวเช่นนี้ระวังจะเบิกจ่ายไม่ทัน และจะกลายเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน สุดท้ายก็เป็นไปตามคาด ซึ่งปัญหาของการทำแบบนี้คือแทนที่ในปีนั้นเราจะได้ใช้งบประมาณไปจัดสรรให้กับส่วนงานอื่นที่จำเป็นกว่า

ยิ่งในปีนั้นมีสถานการณ์โควิด-19 ด้วย กลับต้องถูกแบ่งสรรงบประมาณมาจัดซื้ออาวุธสงครามที่ไม่จำเป็น แทนที่จะได้ถอดความเป็นทหารออกจากตำรวจ ลดอาวุธหนัก เน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถของตำรวจไทย ก็กลายเป็นว่าตอนนี้ตำรวจมีอาวุธอยู่เต็มคลัง

“ดิฉันยืนยันว่าตำรวจสามารถมีอาวุธได้ แต่โดยข้อเท็จจริงต้องมาดูว่าตำรวจจะได้ใช้อาวุธเหล่านี้กับใคร ด้วยจุดประสงค์อะไร แล้วถือครองไว้เป็นจำนวนเท่าไหร่ เราต้องไม่ปล่อยให้ตำรวจตกเป็นเครื่องมือของรัฐ ที่จะผลักสังคมไปสู่ความรุนแรงในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการสะสมอาวุธสงครามมากมายเช่นนี้”

พนิดา อภิปรายต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ตนจึงเสนอให้ตัดลดงบประมาณในส่วนนี้ลงร้อยละ 3 เป็นจำนวน 1,078 ล้านบาท ตามเหตุผลทั้ง 3 ประการดังต่อไปนี้

1) ต้องเอาความเป็นทหารออกจากตำรวจไทย เพราะไม่เคยมีสถิติใดที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่ตำรวจถือครองอาวุธมาก มีปืนมาก ๆ จะทำให้บ้านเมืองสงบสุขได้มากกว่า เราไม่มีความจำเป็นต้องมีหน่วยรบตำรวจที่เพรียบพร้อมด้วยอาวุธสงครามในมือเช่นนี้

2) การตั้งงบประมาณอย่างไร้ประสิทธิภาพโดยขาดการคำนึงถึงความสามารถในการบริหารงบประมาณขององค์กร ทำให้เกิดงบที่เบิกจ่ายไม่ทันสูงถึง 1.5 พันล้านบาท จำเป็นต้องตั้งคำถามว่าจะยังคงใช้วิธีการพิจารณางบประมาณที่เปิดช่องโหว่ให้ตั้งงบประมาณมาเกินแล้วเบิกจ่ายไม่ได้จริง จนไปเบียดบังงบประมาณในส่วนอื่น ๆ แบบนี้ต่อไปหรือไม่

3) งบประมาณแบบขาด ๆ เกิน ๆ แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป ตร.ต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ว่าสิ่งที่ต้องทำคืออะไร และจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กร อย่างบประมาณที่ทุกคนเห็นตรงกันว่ายังขาดอยู่ เช่น อุปกรณ์สำนักงาน ค่าน้ำมัน หรือค่าสาธารณูปโภค ซึ่งได้รับงบประมาณมาไม่ถึงครึ่งของยอดที่ต้องจ่ายจริง ถ้า ตร.เบนเข็มทิศมาจัดสรรงบประมาณให้ส่วนนี้ จะเบิกจ่ายได้ครบถ้วนและเต็มประสิทธิภาพแน่นอน

“สุดท้ายแล้วดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายครั้งต่อไป จะเป็นไปเพื่อการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของตำรวจไทย ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างแท้จริง

ให้บุคลากรได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่ให้กระบวนการด่านแรกของกระบวนการยุติธรรมต้องรันทดแร้นแค้น อย่าให้เขาเป็นเสือหิวที่เอาแต่วิ่งเข้าหาผลประโยชน์ส่วนตนอีกต่อไปเลย คืนตำรวจให้ประชาชน ดิฉันยังยืนยันคำเดิมว่าท่านต้องยกระดับคุณภาพชีวิตตำรวจไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน”