วุฒิสภา รับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แปรญัตติ 7 วัน


 

โดยสมาชิกวุฒิสภา เสนอแนะองค์กรศาสนาต้องทำความเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การบังคับ แต่เพื่อให้โอกาสคู่รักเพศเดียวกันสร้างครอบครัวโดยสมัครใจ  

การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (2 เม.ย.67) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว

โดยนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในนามตัวแทนคณะรัฐมนตรี ชี้แจงสาระสำคัญว่าเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้

ซึ่งจะทำให้สิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใดเพื่อให้ครอบคลุมทุกเพศ

เช่น การแก้ไขคำนำหน้าเพศหญิง เพศชาย เป็นผู้หมั้น ผู้รับหมั้น แก้ไขคำว่า สามีและภรรยา เป็นคู่สมรส เพื่อให้มีสิทธิ์ การจัดการทรัพย์สิน และสิทธิในการรักษาพยาบาล เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ

แก้ไขการกำหนดอายุการหมั้นสามารถทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว จากเดิมที่กำหนดไว้ 17 ปีบริบูรณ์

และได้เพิ่มบัญญัติใหม่อีก 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อลดภาระให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขกฎหมาย และบัญญัติให้หน่วยงานรัฐทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 180 วัน

อีกทั้ง ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ไม่ใช่การออกกฎหมายใหม่ จึงไม่กระทบต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามใน 3 เขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 ได้รับการยกเว้น

การบังคับใช้ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้นำกฎหมายอิสลามมาใช้แทนใส่ส่วนของกฎหมายครอบครัวและมรดก

รวมถึงสอดคล้องกับหลักกฎหมายเฉพาะยกเว้นกฎหมายทั่วไป

พร้อมย้ำว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นการยืนยันเจตนารมณ์และนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เพื่อลดความเหลือมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติ สร้างการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ

รวมถึงจะเป็นเครื่องมือขจัดปัญหาความไม่เป็นธรรมในครอบครัวจากความหลากหลายทางเพศ  

จากนั้น เป็นการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา โดยย้ำว่าต้องพิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างรอบคอบ เพราะเป็นการรับรองการก่อตั้งครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถูกมองว่าขัดกับหลักการของบางศาสนา

เพราะมีไม่กี่ประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

พร้อมเสนอแนะองค์กรศาสนาต้องทำความเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การบังคับ แต่เพื่อให้โอกาสคู่รักเพศเดียวกันสร้างครอบครัวโดยสมัครใจ

เป็นการเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิ์ที่สามารถทำได้ พร้อมมีข้อสังเกตุ เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ การล่วงละเมิดทางเพศ ลักลอบอุ้มบุญ และข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา

จึงควรมีการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องต่อหลักการทางศาสนา ที่สำคัญต้องเตรียมความพร้อมรองรับปัญหาที่อาจจะตามมาหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ที่สอดคล้องกับความเชื่อ ขนบธรรมเนียม อัตลักษณ์ ความเชื่อและประเพณีของสังคมไทย

ทั้งนี้  หลังการอภิปรายที่สุดแล้ว ที่ประชุมมีมติรับไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 147 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 27 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน